สูงวัย12ล้านคน เฮ! “บิ๊กอู๋” เปิดงานส่งเสริมการมีงานทำ ตั้งเป้า 1 แสนคนทั่วปท.

วันที่ 13 มีนาคม ที่กระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ ระหว่างกรมการจัดหางาน (กกจ.) กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาคเอกชน 12 แห่ง อาทิ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจากกรีนเนท จำกัด บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัท ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม จำกัด และ บริษัท เมซโซ่ จำกัด รวม 23 หน่วยงาน ตามโครงการ “รวมพลังประชารัฐ ส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ” สร้างคุณค่า สร้างหลักประกันที่มั่นคงทางรายได้ให้ผู้สูงอายุ เป้าหมาย 100,000 คนทั่วประเทศ และเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 12 ล้านคน ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 เห็นชอบมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุ 4 มาตรการ/โครงการ คือ 1.มาตรการการจ้างงานผู้สูงอายุ 2.โครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ 3.มาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ 4.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการนโยบายบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ในส่วนของกระทรวงแรงงานนั้น ได้ส่งเสริมการมีงานทำและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ โดยคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมสำหรับการจ้างงานผู้สูงอายุ ซึ่งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว คือ 1.ช่วงอายุสำหรับการจ้างแรงงานผู้สูงอายุ ใช้สำหรับการจ้างลูกจ้างผู้สูงอายุ ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป 2.ประเภทงาน งานเสมียนพนักงาน งานอาชีพเกี่ยวกับการค้า งานอาชีพด้านบริการ หรืองานซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างผู้สูงอายุ 3.อัตราค่าจ้างรายชั่วโมง อัตราเดียวเท่ากันทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 45 บาทต่อชั่วโมง 4.การกำหนดระยะเวลาทำงานที่เหมาะสมสำหรับลูกจ้างผู้สูงอายุ โดยไม่ควรเกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน และไม่เกิน 6 วันต่อสัปดาห์

Advertisement

“ในปี 2562 มีเป้าหมาย 100,000 คน แบ่งเป็น แรงงานผู้สูงอายุในระบบ 20,000 คน แบ่งเป็น ลูกจ้างเอกชน 15,000 คน ลูกจ้างภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ 5,000 คน และแรงงานผู้สูงอายุนอกระบบ 80,000 คน โดย 1.ส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ 70,000 คน 2.ส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน 10,000 คน” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนจ้างแรงงานผู้สูงอายุเข้าทำงานมากขึ้น รัฐบาลได้ออกมาตรการจูงใจ โดยตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 639) พ.ศ.2560 ซึ่งกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธินำรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุ มายกเว้นภาษีเงินได้ โดยสามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่า ในการจ้างผู้สูงอายุเข้าทำงานในสถานประกอบการของตน และผู้สูงอายุต้องมีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น และผู้สูงอายุที่จะเข้าทำงานจะเป็นลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ้างอยู่ก่อนแล้ว เช่น เกษียณอายุงานและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจ้างให้ทำงานต่อ เป็นต้น หรือเป็นผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนหางานไว้กับ กกจ.ก็ได้ และต้องไม่เป็นและไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ้างผู้สูงอายุดังกล่าว หรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน ทั้งนี้ รายจ่ายที่จะได้รับการยกเว้นภาษี ต้องเกิดจากรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่ผู้สูงอายุไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวอีกว่า ผลจากการทำเอ็มโอยูครั้งนี้ 1.ทั้ง 3 ฝ่าย จะร่วมมือขับเคลื่อนมาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุด้วยการส่งเสริมการมีงานทำและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ 2.ภาครัฐให้การประสานงานและสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายการส่งเสริมการมีงานทำและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ 3.ภาคเอกชนกำหนดนโยบายเรื่องการจ้างงานผู้สูงอายุในสถานประกอบการของตนเอง ได้แก่ 1.จ้างงานผู้สูงอายุตามกรอบนโยบายที่สถานประกอบการกำหนด 2.จัดทำแผนการเตรียมความพร้อมรองรับการจ้างงานผู้สูงอายุ 3.จัดส่งตำแหน่งงานว่างสำหรับผู้สูงอายุให้หน่วยงานภาครัฐ (ถ้ามี) 4.ภาคประชาสังคมขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ อาทิ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุและหน่วยงานในภาคีเครือข่ายร่วมกันส่งเสริมการมีงานทำให้ผู้สูงอายุ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต มีระยะเวลาของเอ็มโอยู 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม

Advertisement

สำหรับช่องทางการรับสมัครมี 5 ช่องทาง คือ 1.ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด 2.สถานประกอบการ 3.เว็บไซต์ www.Smartjob.doe.go.th 4.ตู้งาน (Job Box) 5.สายด่วน 1506

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image