ผู้ใช้แรงงานจวก ‘บอร์ดค่าจ้าง’ ยื้อเคาะตัวเลขขั้นต่ำ จี้ ‘บิ๊กอู๋’ ดันรัฐเร่งประกาศขึ้นเท่ากันทั่วปท.

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่กระทรวงแรงงาน นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมด้วยนายชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. และนายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) นำกลุ่มผู้ใช้แรงงานประมาณ 150 คนเข้ายื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2562 เท่ากันทั่วประเทศ ต่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีนายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือและรับฟังข้อเรียกร้อง ซึ่ง คสรท.ยืนยันให้ปรับค่าจ้างในอัตราเดียวกัน และต้องเพียงพอต่อการดำรงชีพตามมาตรฐานสากล โดยนายวิวัฒน์รับปากจะนำข้อเรียกร้องดังกล่าวเสนอให้บอร์ดค่าจ้าง ชุดที่ 20 พิจารณาในการประชุมปลายเดือนเมษายนนี้

นายสมพรกล่าวว่า คสรท.และ สรส.แสดงจุดยืนและพยายามผลักดันให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบหลายปีที่ผ่านมา มีการทำแบบสำรวจสถานการณ์ดำรงชีพ ค่าจ้าง รายได้ หนี้สิน ของผู้ใช้งานซึ่งมีภาระหนี้สิน คุณภาพชีวิตตกต่ำจากรายได้ไม่พอกิน

“รัฐบาลจึงต้องเข้าใจความเป็นจริง ต้องฟังเสียงประชาชน โดยเฉพาะแรงงานเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศเกือบ 40 ล้านคน ต้องทำไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ แต่การประชุมบอร์ดค่าจ้างเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ไม่มีการสรุปอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ และให้เลื่อนไปพิจารณาในเดือนเมษายนนี้แทน โดยอ้างว่ามี 46 จังหวัดที่ไม่เสนอตัวเลข จึงให้กลับไปพิจารณาใหม่ ผมมองว่าเป็นการยื้อ เพราะฝ่ายนายจ้างยังไม่ยอมให้มีการปรับขึ้น” นายสมพรกล่าว และว่า ขณะนี้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดอยู่ในสภาพง่อยเปลี้ย ไม่เสนอตัวเลข ดังนั้นควรยกเลิกเพราะมีแล้วไม่เกิดประโยชน์ เสียดายงบประมาณ

นายสมพรกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ลูกจ้างที่ออกมาเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างมักจะถูกนายจ้างข่มขู่ว่าจะใช้หุ่นยนต์ทำงานแทน

Advertisement

“ฝ่ายนายจ้างมีการข่มขู่ลูกจ้างที่ออกมาเรียกร้องขอปรับค่าจ้าง จะเอาหุ่นยนต์มาทำงาน ไม่ต้องมีการจ้างแรงงาน แต่รู้หรือไม่ว่าใช้หุ่นยนต์จะไม่เกิดการซื้อ การจับจ่าย เพราะหุ่นไม่กิน ไม่ใช้จ่ายเหมือนคน รายได้ในประเทศจะหายไป แต่การปรับค่าจ้างจะทำให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ มีการใช้จ่ายมากขึ้น มีการผลิต มีการจ้างงานมากขึ้น รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น” นายสมพรกล่าว และว่า ดังนั้นควรปรับค่าจ้างให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเห็นว่าตัวเลขที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างฝ่ายวิชาการเสนอปรับขึ้น 2-10 บาทน้อยเกินไป เพราะวันนี้ค่าจ้างสูงสุด 330 บาทยังไม่พอใช้เพราะข้าวของแพง

นายสมพรกล่าวว่า จากการศึกษาตัวเลขที่ผู้ใช้แรงงานอยู่ได้ต้องอย่างน้อยเดือนละ 20,000 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 700 บาท หากบอกว่าปรับขึ้นวันละ 700 บาทก็จะตื่นตกใจ ดังนั้นจะปรับขึ้นเท่าใด บอร์ดค่าจ้างต้องไปพิจารณา แต่ไม่ควรยื้อการปรับค่าจ้างให้นานออกไปอีก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image