จุฬาภรณ์เปิด ‘ห้องผ่าตัดไฮบริด’ กว่า 100 ล้าน ครอบคลุมผู้ป่วย 3 สิทธิรักษา

รพ.จุฬาภรณ์เปิดห้องผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดไฮบริด มูลค่ากว่า 100 ล้าน รักษาผู้ป่วยกลุ่มโรคซับซ้อนครอบคลุม 3 สิทธิรักษา

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงข่าวเปิด “ห้องผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดไฮบริด (Hybrid Endovascular Operating Theatre) อัจฉริยะแห่งการผสมผสานห้องปฏิบัติการสวนหัวใจและหลอดเลือดรวมกับห้องผ่าตัดที่ทันสมัย” ว่าด้วยพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ทรงมีพระประสงค์ให้โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นที่พึ่งของประชาชนคนไทยทุกระดับ ให้ได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน ทรงมีพระดำริให้ขยายการให้บริการจากโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็งเป็นสถาบันการแพทย์ครบวงจร และสร้างโรงพยาบาลส่วนต่อขยายมายังอาคารศูนย์การแพทย์จุฬาภรณ์เฉลิมพระเกียรติ โดยมีศูนย์หัวใจและหลอดเลือดเป็นหนึ่งในศูนย์แห่งความเป็นเลิศ ที่มีศักยภาพในการรองรับดูแลผู้ป่วยหัวใจครบทุกสาขาและครบวงจร

ศ.นพ.นิธิกล่าวอีกว่า โดยในปี 2562 นี้ ทางศูนย์หัวใจและหลอดเลือดได้เปิดให้บริการ ห้องผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดไฮบริดขึ้น โดยเป็นการผสมระหว่างห้องผ่าตัดและห้องสวนหัวใจ รวมทั้งมีเครื่องเอกซเรย์ตรวจสวนหลอดเลือดชนิดระนาบเดียว แบบ flex move พร้อมระบบการเคลื่อนที่ของ C-arm เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระรอบตัวผู้ป่วยและทุกตำแหน่งของห้องผ่าตัด ด้วยหน้าจอขนาดใหญ่ 58 นิ้ว ทำให้สามารถแสดงภาพหลอดเลือดได้อย่างชัดเจนซึ่งมีความละเอียดแม่นยำมาก ที่สำคัญการผ่าตัดแต่ละครั้งยังเป็นเรียลไทม์ เนื่องจากเรารวมทั้งการผ่าตัดและสวนหัวใจไว้คราวเดียวกัน

“ที่ผ่านมาเราได้ทำการผ่าตัดผู้ป่วยไปแล้ว 3-4 ราย และจะมีการขยายในวงกว้างให้ครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา ทั้งประกันสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง และสิทธิข้าราชการ โดยในส่วนของประกันสังคมได้มีการหารือกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้สามารถเข้ามารักษาที่ศูนย์แห่งนี้ได้ โดยไม่ต้องมีการส่งต่อ ส่วนสิทธิบัตรทอง กำลังหารือกับทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน ส่วนสิทธิข้าราชการก็เบิกจ่ายได้ตามสิทธิด้วย เรียกว่าเป็นการให้บริการที่ครอบคลุมทั้งหมด และในอนาคตเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน จะมีโครงการผ่าตัดโรคหัวใจฟรีเช่นกัน” ศ.นพ.นิธิกล่าว

Advertisement

รศ.นพ.วรวงศ์ ศลิษฎ์อรรถกร ที่ปรึกษาประจำศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า ห้องผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดไฮบริด เป็นการเพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนให้ได้รับการผ่าตัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ความอัจฉริยะของห้องผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดไฮบริด คือเป็นที่รวมของสุดยอดเทคโนโลยีของการผ่าตัดเข้ากับเทคโนโลยีทางด้านภาพรังสี ช่วยให้การผ่าตัดในบริเวณที่ผ่าตัดยากสามารถทำได้อย่างราบรื่นปลอดภัยมากขึ้น เช่น การผ่าตัดหลอดเลือดแดงใหญ่ส่วนโค้ง (Aortic Arch Surgery) ซึ่งเดิมเป็นการผ่าตัดที่อันตราย ผ่าตัดยาก อัตราการเสียชีวิตจากการผ่าตัดค่อนข้างสูง เมื่อใช้เทคนิคการผ่าตัดรวมกับการใช้อุปกรณ์หลอดเลือดเทียมแบบขดลวดหุ้มกราฟ (Aortic Stent Graft) ร่วมกับเทคโนโลยีห้องผ่าตัดไฮบริด ช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัด ลดอัตราการเสียชีวิตและพิการหลังผ่าตัด เป็นต้น

Advertisement

นพ.สุขสันต์ กนกศิลป์ แพทย์ที่ปรึกษาอาวุโสและศัลยแพทย์หัวใจและทรวงอก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวว่า สำหรับข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยหัตถการดังกล่าว จะทำในกลุ่มการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจที่เป็นการผ่าตัดแบบเปิด (Open Heart Surgery) ซึ่งใช้เครื่องหัวใจและปอดเทียม โดยนักเทคโนโลยีหัวใจที่ได้รับการฝึกฝนอย่างจริงจังและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสามารถควบคุมเครื่องได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังรักษากลุ่มโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพองในช่องอกและในช่องท้อง การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติคแบบไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอกในกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอก การผ่าตัดหัวใจแบบแผลเล็ก รุกล้ำร่างกายน้อย เป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดได้เร็ว ระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสั้นลง เจ็บแผลน้อยลง กลับไปมีกิจวัตรประจำวันได้เร็วขึ้น

“เรายังใช้ทำการผ่าตัดมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น ในระยะที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กมาก ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีของห้องผ่าตัดไฮบริด สามารถกำหนดตำแหน่งของก้อนมะเร็งขนาดเล็กได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้สามารถเก็บรักษาเนื้อปอดที่ดีไว้ได้ บาดแผลเล็ก เจ็บน้อย ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้เร็วกว่าวิธีผ่าตัดแบบแผลเปิด และการผ่าตัดหัวใจเด็กที่มีความซับซ้อน เทคโนโลยีห้องผ่าตัดไฮบริดจะช่วยลดระยะเวลาการผ่าตัด ลดอันตรายจากการผ่าตัด ช่วยให้อัตราการเสียชีวิตและพิการหลังการผ่าตัดลดลง โดยทั้งหมดเป็นการผ่าตัดที่ใช้เวลาน้อยลง อย่างการผ่าตัดหลอดเลือดแดงใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 12-24 ชั่วโมง เหลือเพียง 3-4 ชั่วโมง และคนไข้ก็ปลอดภัยมากขึ้นด้วย” นพ.สุขสันต์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่างบประมาณของเทคโนโลยีดังกล่าวมีจำนวนเท่าไหร่ นพ.สุขสันต์กล่าวว่า ประมาณกว่า 100 ล้านบาท แต่ในการรักษานั้น หากเข้าเกณฑ์ตรงตามข้อบ่งชี้ก็สามารถใช้สิทธิการรักษาได้ โดยผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดที่แพทย์วินิจฉัยพบว่ามีข้อบ่งชี้ที่ใช้รักษาด้วยวิธีนี้ คือกลุ่มโรคที่ซับซ้อนทางหัวใจ หลอดเลือด และทรวงอก ทั้งนี้ สอบถามรายละเอียดได้ที่สายด่วนโรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โทร 06-4585-5197

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image