นักวิชาการยัน ‘ฉีดวัคซีน’ สร้างภูมิคุ้มกันจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ ลดอัตราการตายได้

วันที่ 21 มีนาคม ที่มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนา “FLU VOICE: ไข้หวัดใหญ่อาจถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ป้องกัน” โดยมีบุคลากรด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวกับการดูแลรักษา และวิจัยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ นักวิชาการ รวมถึงผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคหัวใจ และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงาน

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมี 3 ชนิด คือ A, B และ C ไวรัส A เป็นไวรัสชนิดที่ทำให้เกิดการระบาดอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยในเอเชียตะวันออกมีรายงานถึงการแพร่กระจายของไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยมีไวรัสไข้หวัดใหญ่ influenza A H3N2 เป็นไวรัสที่พบมากที่สุด ส่วนไวรัสชนิด B ทำให้เกิดการระบาดในพื้นที่ระดับภูมิภาค ส่วนชนิด C มักเป็นการติดเชื้อที่แสดงอาการอย่างอ่อนหรือไม่แสดงอาการ และไม่ทำให้เกิดการระบาด

รศ.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล กล่าวว่า การเดินทางที่รวดเร็วของมนุษย์ทำให้ความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่างๆ ยังมีอยู่ เช่น การระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (H1N1 2009) ซึ่งมีการระบาดไปทั่วโลกในเวลาเพียง 1 เดือน ไข้หวัดใหญ่เป็นเชื้อไวรัสที่มีอัตรากลายพันธุ์สูง เพราะการกลายพันธุ์เป็นกระบวนการเพื่อความอยู่รอดของตัวเชื้อโรค เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกทำลายจากระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ โดยแต่ละปีไวรัสไข้หวัดใหญ่จะปรับเปลี่ยนสายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ทำให้ก่อโรคในคนได้ทุกปี และเป็นสาเหตุที่ต้องมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อให้ครอบคลุมสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปีให้ได้มากที่สุด

รศ.พญ.อรินทยา พรหมินธิกุล

ด้าน รศ.พญ.อรินทยา พรหมินธิกุล แพทย์เฉพาะทางอายุรแพทย์โรคหัวใจ และรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) มหาราชนครเชียงใหม่ เปิดเผยผลงานวิจัย เรื่อง “Influenza Vaccination reduces cardiovascular events in patients with acute coronary syndrome” ว่า การฉีดวัคซีน 1 เข็ม มีความคุ้มค่าสูง และเป็นเครื่องมือในการลดอัตราการเสียชีวิต จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยง ปีละ 1 ครั้ง ทุกๆ ปี แม้จะเป็นการป้องกันการเป็นไข้หวัดใหญ่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่จะป้องกันการป่วยหนัก ป้องกันการนอนโรงพยาบาล และส่งผลทางอ้อมต่อการลดปอดอักเสบได้ โดยได้รวบรวมทำการวิเคราะห์ในปี 2556 พบว่า การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ร้อยละ 36 และได้ศึกษาประโยชน์ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยหัวใจวาย คือ 1.ผู้ได้รับวัคซีนร้อยละ 21 ของผู้ป่วยในการศึกษาทั้งหมด กลุ่มที่ได้รับวัคซีนจะมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่า 2.สามารถลดอัตราการเสียชีวิตที่ 1 ปีได้อย่างมีนัยสำคัญ และ 3.อัตราการกลับมานอนโรงพยาบาลซ้ำลดลง

Advertisement

“แต่อุปสรรคของการได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พบว่ามีอัตราการให้วัคซีนอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งปัจจัยสำคัญเกิดจากการที่แพทย์ไม่ได้แนะนำเรื่องวัคซีน ไม่ได้รับคำนำจากสื่อด้านเอกสาร และอุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้อัตราการรับวัคซีนต่ำ เนื่องจากผู้ป่วยไม่ทราบถึงประโยชน์ และกังวลถึงผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น” รศ.พญ.อรินทยากล่าว

ขณะที่นายศุภะลักษณ์ จตุเทวประสิทธิ์ ประธานชมรมเบาหวาน รพ.จุฬาภรณ์ อายุ 70 ปี กล่าวว่า เมื่อรู้ว่าเป็นโรคเบาหวานเมื่อ 25 ปี ก็ไปพบแพทย์เป็นประจำและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์มาโดยตลอด ปรับพฤติกรรมการบริโภค ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตอย่างสมดุล จนสามารถควบคุมภาวะน้ำตาลได้เป็นอย่างดี และไม่มีโรคแทรกซ้อนใดๆ รวมถึงตระหนักในเรื่องการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใน 7 กลุ่มเสี่ยง ซึ่งตนและเพื่อนสมาชิกได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ฟรี โดย สปสช.ได้ประกาศให้สิทธิประโยชน์สำหรับกลุ่มเสี่ยงล่าสุดจำนวน 3.5 ล้านโดส โดยส่วนตัวได้ฉีดป้องกันต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง และเห็นผลได้จริงจากการที่หลานไปโรงเรียนและติดเชื้อไข้หวัดใหญ่กลับมา ทำให้พ่อแม่ของหลานได้รับเชื้อและป่วยทั้งครอบครัว ในขณะที่ตัวเองก็อยู่ในห้องเดียวกัน แต่ไม่ได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ เพราะได้ฉีดวัคซีนป้องกันมาก่อน

Advertisement

“จึงอยากให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกภาคส่วนให้คำแนะนำ รวมถึงช่วยประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และอยากขอบคุณภาครัฐสำหรับจุดเริ่มต้นที่ดีในการเล็งเห็นความสำคัญของการป้องกันโรค อีกทั้งอยากให้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการเพิ่มจำนวนวัคซีนเพื่อให้ครอบคลุมกับจำนวนกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานในประเทศที่มีประมาณ 6 ล้านคน ซึ่งยังไม่รวมกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ อีก ซึ่งคาดว่ารวมกันถึงประมาณ 20 ล้านคนทั่วประเทศ” นายศุภะลักษณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image