“บิ๊กอู๋” ติวเข้ม 101 แรงงานไทยก่อนไป “อิสราเอล” ยันให้ความคุ้มครองรอบด้าน

วันที่ 22 มีนาคม พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานปิดการฝึกอบรมพร้อมมอบวุฒิบัตรและให้โอวาทแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม ตามโครงการพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยตามความต้องการของตลาดแรงงานในต่างประเทศ (อิสราเอล) ที่กองพลพัฒนาที่ 2 จ.นครราชสีมา โดยผู้เข้าอบรมประกอบด้วย คนหางานที่ผ่านการสัมภาษณ์และอยู่ระหว่างรอการเดินทางไปทำงานภาคเกษตรที่ประเทศอิสราเอล ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย – อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน (TIC) จำนวน 101 คน อบรมระหว่างวันที่ 19 – 22 มีนาคม 2562

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลภายใต้โครงการความร่วมมือทีไอซี จำนวน 24,746 คน เป็นแรงงานเกษตร 22,871 คน ในนิคมเกษตรจำนวนกว่า 700 แห่ง นายจ้างเกษตรอิสราเอล ประมาณ 7,100 ราย และในปี 2562 มีเป้าหมายจัดส่ง 5,000 คน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปอิสราเอล ประมาณ 75,000 – 77,000 บาท ระยะเวลาจ้างงานตามสัญญาจ้างงาน 2 ปี สามารถต่อสัญญาจ้างงานได้ ขึ้นอยู่กับการต่อใบอนุญาตการจ้างแรงงานต่างชาติของนายจ้างและวีซ่าการทำงาน รวมระยะเวลาการทำงานแล้วไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน ค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 46,799 บาท (ตามประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ณ วันที่ 1 เมษายน 2561 และขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น)

Advertisement

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า กรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้จัดอบรมหลักสูตรให้ความรู้ เสริมสร้างทักษะด้านการเกษตรและการใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และเตรียมความพร้อมให้คนหางานที่จะเดินทางไปทำงานภาคเกษตรในอิสราเอลมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาอังกฤษ การใช้ชีวิตและการดูแลสุขภาพของตนเองในขณะทำงาน โดยจัดอบรมเป็นเวลา 4 วัน และได้รับความร่วมมือจากกองบัญชาการกองพลพัฒนาที่ 2 อ.เมือง จ.นครราชสีมา ให้ใช้สถานที่ฝึกอบรมและที่พัก ทั้งยังสนับสนุนวิทยากรในหัวข้อวิชาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา

“กระทรวงแรงงานมีความห่วงใยในความปลอดภัยและชีวิตการทำงานของคนงานไทย จึงได้คุ้มครองดูแลโดยให้มีการทำประกันสังคม เพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงในการทำงาน นอกจากนี้ ยังส่งเสริมสนับสนุนให้นำความรู้ที่ได้จากการทำงานมาต่อยอดเมื่อกลับมาประเทศไทย ซึ่งที่มาผ่าน มีคนงานไทยจำนวนหลายรายประสบความสำเร็จเป็นสมาร์ท ฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) สามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขอให้แรงงานไทยมั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมายอย่างเต็มที่ ทั้งก่อนเดินทาง ระหว่างการทำงาน และภายหลังจากกลับมาประเทศไทย” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image