อุทยานฯสิมิลันช่วยนักท่องเที่ยวเป็นโรคน้ำหนีบ ชี้ พบบ่อยหลังดำน้ำลึก

อุทยานฯสิมิลันช่วยนักท่องเที่ยวเป็นโรคน้ำหนีบ ชี้ พบบ่อยหลังดำน้ำลึก แนะควรปฏิบัติตามกฎของการดำน้ำอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา เปิดเผยว่า ได้รับการรายงานจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ สิมิลัน 1 (เกาะเมียง) ว่าได้เข้าช่วยเหลือนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศส ของ บ.เขาหลัก เอ็กโปรเรอร์ ชื่อ Mr.Dider sebire อายุ 56 ปี ได้ดำน้ำลึกลงไป 34 ฟุต และมีอาการอาเจียนตลอดเวลา มีผื่นขึ้นตามร่างกาย แต่ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี สัญญาณชีพปกติ มีอาการหายใจเหนื่อยเล็กน้อย จึงให้ทีมแพทย์เข้ารักษาอาการเบื้องต้น โดยคาดว่าเป็นภาวะโรคน้ำหนีบ

Advertisement

นายรวมศิลป์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นทีมแพทย์ได้ให้น้ำเกลือ ยาแก้อาเจียนทางเส้นเลือด และให้การรักษาจำเพาะต่อโรคน้ำหนีบ และช่วงเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณ 22.00 น. ซึ่งอาจมีความเสี่ยงในการเดินทางโดยเรือเพื่อไปโรงพยาบาล จึงได้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ใต้น้ำ ฐานทัพเรือพังงา โดยให้คำแนะนำว่าให้รักษาที่อุทยานฯ ไปก่อน และให้นำส่งโรงพยาบาลในช่วงเช้า

หัวหน้าอุทยานฯหมู่เกาะสิมิลัน กล่าวว่า โดยขณะนี้ได้พาผู้ป่วยนำส่งตัวเพื่อรักษาที่ศูนย์การแพทย์เขาหลัก ล่าสุดผู้ป่วยรู้สึกตัวดี และปลอดภัยแล้ว

สำหรับ “โรคน้ำหนีบ” หรือโรคลดความกด หรือโรคเคซอง หรือโรคน้ำหีบ เป็นโรคที่เกิดจากการเกิดฟองก๊าซในเลือดหรือในเนื้อเยื่อ เมื่อมีการลดความกดดันไม่เพียงพอ หรือไม่ลดความกดดันเลย หลังการดำน้ำลึกมากกว่า 30 ฟุตน้ำทะเล และดำเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ปริมาณของก๊าซไนโตรเจนอยู่ในภาวะเกินความอิ่มตัวเมื่อความดันอากาศลดลง กลายสภาพเป็นฟองอากาศ ซึ่งสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย เช่น เกิดฟองอากาศที่กล้ามเนื้อข้อต่อจะมีอาการปวด ถ้าเข้าสู่กระแสเลือดไปอุดเส้นเลือดที่ไขสันหลังหรือสมองจะทำให้สลบ หรือเป็นอัมพาต

Advertisement

ส่วนใหญ่มักเกิดอาการหลังขึ้นจากน้ำประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง มีอาการอ่อนเพลีย ผื่นคันเป็นนูน ปวดกล้ามเนื้อเพราะมีฟองอากาศแทรกตามเนื้อเยื้อรอบๆ ข้อ หรือหากฟองอากาศเข้าไปยังอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง จะมีอาปวดศีรษะข้างเดียว คล้ายไมเกรนหมดสติ อัมพาตครึ่งซีก อาการ เจ็บหน้าอก ไอ เหนื่อย หายใจไม่ออก มีเสมหะปนเลือด ช็อก หูชั้นใน มีอาการหูหนวก มีเสียงดังหึ่งๆ ภายในหู เวียนศีรษะ ตากระตุก เป็นต้น โดยการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การปฏิบัติตามกฎของการดำน้ำอย่างเคร่งครัด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image