“บิ๊กอู๋” นำทัพ ก.แรงงานลงนาม เอ็มโอซี รัฐบาลญี่ปุ่น เพิ่มความคุ้มครองแรงงานไทยไม่ให้ถูกเอาเปรียบ

“บิ๊กอู๋” นำทัพ ก.แรงงานลงนามเอ็มโอซี กับรัฐบาลญี่ปุ่น เพิ่มความคุ้มครองแรงงานไทยไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ตั้งเป้าส่งเยาวชนเข้าโครงการไอเอ็มเจแปนนำองค์ความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนางอีมิโกะ ทาคาไก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือโครงการฝึกปฏิบัติงานทางเทคนิคในญี่ปุ่น (Memorandum of Cooperation on the Technical intern Training Program : MOC) ระหว่างนางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน และ นางโยชิโมโต้ อากิโกะ อธิบดีกรมทรัพยากรมนุษย์ ณ กระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ การลงนามเอ็มโอซีในครั้งนี้ กระทรวงยุติธรรมและ กระทรวงการต่างประเทศ ได้มีการลงนามไปก่อนแล้ว

 

Advertisement

 

พล.ต.อ.อดุลย์ เปิดเผยถึงการลงนามเอ็มโอซีในครั้งนี้ว่า ในระยะเวลาที่ผ่านมา การจัดส่งแรงงานไทยไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่นได้ดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ และในปี 2559 ประเทศญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนกฎหมายสำหรับการรับผู้ฝึกปฏิบัติงานทางเทคนิคชาวต่างชาติ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้มีข้อเสนอลงนามเอ็มโอซีกับรัฐบาลไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้ฝึกงานต่างชาติ และประกันคุณภาพองค์กรผู้ส่งคนหางานไปฝึกงานกับประเทศญี่ปุ่นมิให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดส่งในอัตราสูง เพื่อการถ่ายทอดทักษะทางเทคนิคอื่นๆ จากประเทศญี่ปุ่นให้แก่ประเทศไทยอย่างเหมาะสมและเป็นไปด้วยความราบรื่นผ่านโครงการฝึกปฎิบัติงานทางเทคนิค และเพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จะมีหน้าที่ตรวจสอบ รับรองการดำเนินงานขององค์กรผู้ส่งภาคเอกชนให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ญี่ปุ่นกำหนด ซึ่งการลงนามในครั้งนี้จะทำให้คนงานไทยได้รับความคุ้มครอง และไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

Advertisement

วันเดียวกัน พล.ต.อ.อดุลย์ นำคณะไปตรวจเยี่ยมแรงงานไทยที่ไปทำงานประเทศญี่ปุ่น ตามโครงการจัดส่งผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคคนไทยไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านองค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น (International Manpower Development Organization,Japan: IM JAPAN) หรือไอเอ็มเจแปน พร้อมเข้าพบปะหารือกับนายเคียวเอ ยานากิซาวา ประธานไอเอ็ม เจแปน ณ ศูนย์อบรมแรงงานก่อนเข้าทำงานของไอเอ็มเจแปน กรุงโตเกียว โดยมีแรงงานไทยที่เข้าฝึกงาน จำนวน 21 คน

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ทุกคนเป็นกำลังสำคัญของประเทศที่จะเก็บเกี่ยววิชาความรู้และประสบการณ์ทำงานไปต่อยอดในการประกอบอาชีพเมื่อเดินทางกลับไปยังประเทศไทย ตลอดจนวางแผนอนาคตข้างหน้าตลอดเวลา เชื่อมั่นเป็นผู้จัดการในอนาคต ทั้งนี้กรมการจัดหางาน และไอเอ็มเจแปนได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยโครงการจัดส่งผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคคนไทยไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านไอเอ็มเจแปนตั้งแต่เดือนเมษายน 2542 ต่อมาได้มีการแก้ไขเอ็มโอยูเพื่อให้เป็นไปตามกฏหมายของประเทศญี่ปุ่น โดยลงนามฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ฝึกปฏิบัติงานคนไทยในประเทศญี่ปุ่นทั้งสิ้น 8,644 คน จากจำนวนผู้ฝึกปฏิบัติงานทั้งหมดในญี่ปุ่น 285,776 คน โดยผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคฯ จะฝึกปฏิบัติงาน 1 ปี หรือ 3 ปี และได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง/ค่าจ้างตามเงื่อนไขและกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ในเดือนแรกได้รับเบี้ยเลี้ยง 80,000 เยน ไอเอ็มเจแปนรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ และทำประกันภัยแก่ผู้ฝึกงาน เดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 12 หรือเดือนที่ 36 ตามระยะเวลาการฝึกงาน 1 ปี หรือ 3 ปี จะได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนด และรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เอง พร้อมจ่ายค่าเบี้ยประกันกับหน่วยงานของรัฐ เมื่อฝึกงานครบ 1 ปี และ 3 ปี จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพจำนวน 200,000 เยน และ 600,000 เยน ตามลำดับ นอกจากนี้ ไอเอ็มเจแปนจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าโดยสารเครื่องบิน ค่าฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานฯ และค่าใช้จ่ายในการเตรียมเอกสารก่อนเดินทาง

 

 

“ผู้ฝึกงานทุกคนจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมในประเทศไทยที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี เป็นเวลา 4 เดือน และต้องฝึกงานที่ศูนย์ฝึกอบรมของ ไอเอ็มเจแปนเป็นเวลา 4 สัปดาห์ โดยเป็นการเรียนรู้วิธีการทำงาน การปฏิบัติตนขณะที่ฝึกงานในสถานประกอบการ และความปลอดภัยในการทำงาน โดยเฉพาะเรียนภาษาญี่ปุ่น ซึ่งจะมีการทดสอบอีกครั้ง หากไม่ผ่านการทดสอบจะถูกส่งตัวกลับประเทศไทย” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวและว่า ในปี 2561 กรมการจัดหางาน ได้จัดส่งผู้ฝึกงานไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด 12 รุ่น รวม 358 คน มีผู้ฝึกงานได้รับการต่อสัญญาจ้าง ระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งสิ้น 45 คน และในปี 2562 จัดส่ง 1 รุ่น คือรุ่นที่ 9/61 จำนวน 33 คน เดินทางไปฝึกงานเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2562 และในปี 2562 ได้รับการต่อสัญญาจ้างเพิ่ม 2 ปี รวมเป็น 5 ปี จำนวน 5 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image