‘ปิยะสกล’ เผยความสำเร็จหลังเปิด ’20 คลินิกนอกเวลา’ แก้ปัญหารอคิว-ขาดสภาพคล่อง

เมื่อวันที่ 28  มีนาคม ที่โรงแรมรามา การ์เดนส์ นพ.ปิยะสกล สกลสุตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมพัฒนาศักยภาพการจัดบริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า อย่างที่เห็นกันว่ารพ.รัฐมีผู้ป่วยใช้รับบริการจำนวนมากทำให้เกิดการแออัด กระทรวงจึงได้ออกระเบียบการจัดบริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2561 ซึ่งหลังจากที่ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้วมีรพ.เปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาแล้วเกือบ 20 แห่ง ทำให้สถานการณ์การเงินของรพ.ดีขึ้น จากที่เคยประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ขณะนี้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม (สปส) ก็ให้การยอมรับกันหมดแล้ว จึงตั้งเป้าว่าจะในส่วนของรพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปควรจะเปิดคลินิกให้ครบทุกแห่ง ที่ไหนพร้อมก็ดำเนินการเลย ส่วนรพ.ชุมชนนั้นไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเปิดทุกแห่ง แต่ดูว่าที่ไหนมีความจำเป็นก็สามารถทำได้

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า รพ.ที่ดำเนินการไปแล้วนั้น ตอนนี้เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น มีประชาชนที่มีความพร้อมเลือกไปใช้บริการคลินิกนอกเวลาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ลดความแออัดของรพ.ในช่วงเวลากลางวันไปได้มาก เกิดการใช้ทรัพยากรรัฐอย่างคุ้มค่า แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานก็มีค่าตอบแทนเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประชาชนที่มารับบริการแล้ว หากมีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องสามารถมารับบริการต่อในระบบได้ตลอดเวลา ไม่ได้จำกัดว่าหากมาที่คลินิกนอกเวลาแล้วจะกลับไปรับบริการในเวลาไม่ได้ ทั้งนี้ รายได้ที่มาจากการเปิดคลินิกนอกเวลานั้น จัดให้เป็นเงินบำรุงของรพ. หากรพ.แม่อยู่ได้ ก็สามารถช่วยเหลือรพ.อื่นๆ ที่อยู่ภายในจังหวัดเดียวกันได้อีกด้วย แต่อาจจะไม่ได้เป็นของการกระจายเงินให้โดยตรง แต่ให้ลักษณเช่น รพ.อำเภอที่มีการส่งต่อผู้ป่วยมารักษาในรพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป เดิมจะตามไปเก็บเงินจากรพ.ชุมชน แต่ต่อไปเมื่อรพ.ใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นก็อาจจะเป็นการลงบัญชีไว้แล้วยกหนี้ให้ เป็นต้น

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข ได้แต่งตั้งคณะทำงานฯ เพื่อศึกษาและนำร่องดำเนินงานคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการ หรือ Special Medical Clinic (SMC) ในโรงพยาบาล 7 แห่ง ได้แก่ 1.รพ.มหาราชนครราชสีมา 2.รพ.อุดรธานี 3.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 4.รพ.สกลนคร 5.รพ.นครปฐม 6.รพ.สุราษฎร์ธานี 7.รพ.พระนครศรีอยุธยา ผลการทำประชาพิจารณ์พบว่า ประชาชน เห็นด้วยให้มีการจัดบริการ SMC มากกว่าร้อยละ 98 จึงได้มีระเบียบกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดบริการคลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561 และประกาศฯ ที่เกี่ยวข้อง อีกจำนวน 4 ฉบับ เพื่อให้หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดบริการดังกล่าว

ทั้งนี้ คลินิกพิเศษเฉพาะทางนอกเวลาราชการ เปิดบริการแล้วในโรงพยาบาลศูนย์ 16 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 5 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 3 แห่ง ในสังกัดกรมการแพทย์ได้รับอนุมัติเปิดให้บริการแล้ว 11 แห่งและอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติอีก 3 แห่ง ในสังกัดกรมสุขภาพจิตเปิดให้บริการแล้ว 1 แห่งคือ โรงพยาบาลศรีธัญญา ส่วนใหญ่ที่เปิดบริการแล้ว ประชาชนมีความพึงพอใจ มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น บุคลากรมีความพึงพอใจ สามารถธำรงบุคลากรไว้ได้ รวมทั้งโรงพยาบาลได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า และเป็นประโยชน์กับประชาชนมากยิ่งขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image