พม.สำรวจข้อมูลคนไร้บ้านทั่วปท.ครั้งแรก พบกทม.มีสูงนับพันคน

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

เมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ 9 องค์กร อาทิ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมคนไร้บ้าน และภาคเครือข่าย ว่า ที่ผ่านมา พม.และภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน โดยสร้างศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพคนไร้บ้านใน 3 เมืองใหญ่ ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และขอนแก่น ดูแลกลุ่มคนไร้บ้าน 698 ราย ใช้งบประมาณรวม 118 ล้านบาท

รมว.พม.กล่าวอีกว่า ยังมีกลุ่มคนไร้บ้านอีกจำนวนมากที่ขาดโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านความมั่นคงในที่อยู่อาศัย โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามสถานที่สาธารณะกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงเกิดความร่วมมือสำรวจนี้ขึ้น เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำระบบข้อมูลการวิจัยและการจัดการความรู้ เป็นแนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตคนไร้บ้านอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสำรวจในพื้นที่ 70 เขตเทศบาล 45 จังหวัด ภายในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมนี้

นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ หรือลุงดำ นายกสมาคมคนไร้บ้าน กล่าวว่า จำนวนคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร เท่าที่ติดตามข้อมูลมีประมาณ 1,200 กว่าคน โดยกระจัดกระจายอยู่ตามที่สาธารณะต่างๆ จำนวนหนึ่งก็พักอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงคนไร้บ้านที่ภาครัฐจัดสถานที่ให้ แต่จำนวนไม่น้อยเมื่อเข้าไปพักอาศัยต้องอยู่ตามเงื่อนไขกฎระเบียบ เช่น ต้องเข้าออกตามเวลา ทำให้รู้สึกเหมือนติดคุกขาดความเป็นอิสระ หรือบางคนมีอาชีพเก็บของเก่าขาย แต่ก็ถูกห้ามนำของเก่าเหล่านี้เข้าไปในศูนย์พักพิง ทำให้คนเหล่านี้ต้องกลับมาใช้ชีวิตตามที่สาธารณะอีก ซึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ก็อยากจะฝากไปถึงหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ให้ผ่อนปรนเงื่อนไขกฎระเบียบต่างๆ ให้คนเหล่านี้ได้เข้ามาพักอาศัย

Advertisement
นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ หรือลุงดำ นายกสมาคมคนไร้บ้าน

นายสุชินกล่าวอีกว่า คาดการณ์ว่าปัจจุบันน่าจะมีคนไร้บ้านไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นคน ด้วยระยะหลังเริ่มพบคนอายุ 30 ปีขึ้นไปออกมาไร้บ้านมากขึ้น จากเดิมที่จะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากคนเหล่านี้มีความรู้น้อย ไม่มีทักษะอาชีพ ทำงานใช้แรงอย่างเดียว ขณะที่ความต้องการพบว่า คนไร้บ้านช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป ต้องการมีบ้านที่มั่นคงเป็นของตัวเอง แต่คนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุ กลับไม่ต้องการบ้านที่มั่นคง เพราะผ่อนระยะยาวไม่ไหว จึงขอเพียงมีที่อยู่ที่กินที่สม่ำเสมอก็พอ สามารถมีชีวิตอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image