อย.แจงไม่เกี่ยวจับกุม ‘มูลนิธิข้าวขวัญ’ ไม่ขอก้าวล่วงคดี

อย.แจงไม่เกี่ยวจับกุมมูลนิธิข้าวขวัญ ชี้นิรโทษกรรมเน้นเรื่องครอบครองเป็นหลัก ไม่ขอก้าวล่วงคดี

เมื่อวันที่ 10 เมษายน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวเรื่อง “กัญชา” กรณีตำรวจจับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ที่ผลิตและจ่ายยาน้ำมันกัญชา จนเกิดคำถามเรื่องการเอื้อนายทุนใหญ่ ว่า ขอชี้แจงก่อนว่า การเข้าตรวจสอบมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ผู้เข้าตรวจสอบเป็นตำรวจและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ไม่ใช่ อย. ส่วนคำถามที่ว่า ขณะนี้อยู่ช่วงนิรโทษกรรม 90 วัน มาแจ้งครอบครองกัญชาโดยไม่ต้องรับโทษ การเข้าตรวจสอบเช่นนี้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ขณะนี้ก็มีผู้รู้กฎหมายตีความออกมาหลากหลายและไม่เหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องให้ทางด้านเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญกฎหมายตีความ อย.คงไม่ก้าวล่วง เพราะอยู่ในช่วงของการดำเนินคดี

เมื่อถามว่าตีความเรื่องการครอบครองกัญชาอย่างไร เพราะกฎหมายให้มาแจ้งครอบครองได้โดยไม่ต้องรับโทษ แต่มูลนิธิถูกจับฐานการครอบครองกัญชา ภญ.สุภัทรากล่าวว่า เจตนารมณ์ของกฎหมาย คือ หากครอบครองกัญชาก่อนกฎหมายออกมา จะผ่อนปรนให้ 90 วัน ในการมาแจ้งครอบครองโดยไม่ต้องรับโทษ การตีความประเด็นข้อกฎหมายการครอบครองจะมีความคิดเห็นนักกฎหมายแตกต่างกันออกไป คงต้องขึ้นกับพยานหลักฐาน ซึ่งต้องว่ากันไปในแต่ละคดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะมูลนิธิมีการแจกจ่ายน้ำมันกัญชาหรือไม่ ภญ.สุภัทรากล่าวว่า การนิรโทษกรรมจะเป็นเรื่องของการครอบครองเป็นหลัก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มีโอกาสอนุญาตผลิต ปลูก สกัดกัญชาในอนาคต เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพ หน่วยงานรัฐ หรือผู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ทำร่วมกับรัฐ 2.ผู้ป่วย และ 3.กลุ่มที่ไม่เข้าข่ายในสองกลุ่มแรก ไม่ว่ามีไว้ลักษณะไหนก็มาแจ้งครอบครองได้ โดยกลุ่มนี้หากไม่สามารถแจงได้ว่า นำมาใช้รักษาเฉพาะบุคคลหรือวิจัย กัญชาของคนกลุ่มนี้จะทำเรื่องให้ตกเป็นของแผ่นดิน

Advertisement

“บุคคลกลุ่มใหญ่ที่มาแจ้งครอบครองเป็นผู้ป่วยรักษาตัวเอง ตรงนี้ไม่มีประเด็น เพราะมีไว้แจ้งรักษาตัวเอง ส่วนตอนนี้ คือ ประเด็นเรื่องของการตีความเหนือกว่าครอบครอง ซึ่งก็มีแนวคิดของนักกฎหมายหลายกลุ่ม ต้องว่าเป็นกรณีไปตามการดำเนินการของแต่ละราย ซึ่งมีการกระทำไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องของมูลนิธิที่มีการแจก ตรงนี้ต้องว่ากันเป็นกรณีไป” ภญ.สุภัทรากล่าว

ภญ.สุภัทรากล่าวว่า ส่วนประเด็นการออกกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา เพื่อเอื้อนายทุนหรือภาคเอกชนรายใหญ่ ขอย้ำว่า ไม่มีการเอื้อนายทุนใหญ่เลย อย่างคุณสมบัติผู้ที่จะสามารถขอรับอนุญาตปลูก ผลิต สกัด กัญชา ตามกฎหมายช่วง 5 ปีแรก เปิดไว้ทั้งหน่วยงานรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐที่สอนแพทย์ รพ.รัฐ และกลุ่มบุคคลทั่วไปที่ต้องมาดำเนินงานกับหน่วยงานรัฐ เช่น มหาวิทยาลัยเอกชน กลุ่มเกษตรกร ซึ่งรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร มาร่วมกับหน่วยงานรัฐปลูกผลิตสกัดกัญชาทางการแพทย์ได้ จะเห็นว่าเราไม่ได้ปิดกั้นเกษตรกรไทยเลย และส่งเสริมให้เกษตรกรมีโอกาสร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในการปลูกผลิตสกัดกัญชา และที่ทำได้อีก คือ การศึกษาวิจัยที่เปิดกว้างมาก ทั้งรัฐและเอกชนที่มาขอวิจัยได้ ซึ่งขณะนี้มีมายื่นศึกษาวิจัยกับ อย.จำนวนมาก เช่น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยนเรศวร

ภญ.สุภัทรากล่าวว่า สำหรับการมาแจ้งครอบครองกัญชา นับตั้งแต่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2562 บทเฉพาะกาลกำหนดเวลา 90 วัน ให้มาแจ้งการครอบครองกัญชาโดยไม่ต้องรับโทษ โดยจะสิ้นสุดวันที่ 19 พ.ค.2562 ซึ่งเหลือเวลาประมาณ 20 กว่าวัน โดยขณะนี้มีผู้มาแจ้งครอบครองที่ อย.แล้ว 906 ราย แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) รวม 442 ราย รวมแล้วกว่า 1,348 ราย

Advertisement

นางขนิษฐา ตันติศิรินทร์ ผอ.กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการออกกฎหมายลูก 10 ฉบับนั้น แบ่งเป็น เรื่องนิรโทษกรรม 3 ฉบับบังคับใช้แล้ว ประกาศกระทรวงสาธารณสุข 2 ฉบับ คือ คุณสมบัติแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน และเรื่องตำรับยากัญชา ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามแล้ว รอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา กฎกระทรวง 2 ฉบับ อยู่ระหว่างรอ รมว.สธ.ลงนาม เพื่อเสนอ ครม. 1 ฉบับ และรอเสนอ รมว.สธ. 1 ฉบับ และประกาศคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ 3 ฉบับ เช่น บัญชีรับจ่าย คำเตือนข้อควรระวังฉลากกัญชา อยู่ระหว่างนำเสนอประธานกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image