สงกรานต์ปีนี้ สาด ไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง

สงกรานต์ปีนี้ สาด ไม่ดื่ม ไม่ซิ่งž

ช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ผู้คนทยอยเดินทางมุ่งหน้ากลับภูมิลำเนา ทำให้ปริมาณรถยนต์บนท้องถนนเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับแนวโน้มอุบัติเหตุที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดลง จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปี 2560 พบการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง รวม 3,690 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 3,808 ราย ผู้เสียชีวิต 390 ราย ส่วนปี 2561 มีจำนวนอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น รวม 3,724 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 3,897 ราย และผู้เสียชีวิต 418 ราย โดยสาเหตุอันดับแรกเกิดจากขับรถเร็วเกินกำหนด คิดเป็นร้อยละ 39.27 รองลงมาเกิดจากเมาสุรา ร้อยละ 28 ความประมาท ร้อยละ 20.4 และอาการหลับใน ร้อยละ 6.28 ซึ่งศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปภ.) ระบุว่าต้นเหตุของปัญหา คือ งานรื่นเริงที่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ทำให้เมื่อไม่นานมานี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และเครือข่ายสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) เปิดงานรณรงค์รับมืออุบัติเหตุสงกรานต์ ภายใต้แนวคิด สาด ไม่ดื่ม ไม่ซิ่งŽ บริเวณลานกิจกรรมเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมร่วมกันเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง

Advertisement

นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปี 2561 ข้อมูลจากศูนย์ปลอดภัยคมนาคม พบปริมาณรถยนต์เดินทางเข้า-ออกกรุงเทพมหานคร สู่ภูมิภาคในช่วงเทศกาลสงกรานต์บนถนนทางหลวงมากถึง 8.7 ล้านคัน เมื่อเทียบกับช่วงปกติ 7.5 ล้านคัน และเกิดอุบัติเหตุเกือบ 4,000 ครั้ง สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน พบยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุดคือ รถจักรยานยนต์ สูงถึงร้อยละ 79.85 และทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 67.4

ขณะที่สาเหตุการเสียชีวิตมาจากขับรถเร็วเกินกำหนดและเมาสุรา ตัวเลขที่น่าตกใจพบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี โดยเฉพาะเยาวชนที่มีตัวเลขมากถึง 1,449 ราย ทำให้มาตรการลดอุบัติเหตุปีนี้ต้องให้ความสำคัญกับรถจักรยานยนต์มากขึ้น พร้อมกระตุ้นให้กลุ่มเยาวชนหันมาใส่ใจต่อเรื่องดังกล่าวผ่านกิจกรรมรณรงค์ สาด ไม่ดื่ม ไม่ซิ่ง ให้ขับขี่ปลอดภัย ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ขับรถเร็ว ไม่ประมาท ขณะที่ผู้เล่นน้ำสงกรานต์เองควรรอให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะชะลอหรือจอดก่อนสาดน้ำหรือเล่นน้ำ

Advertisement

”หากเรารณรงค์ในช่วง 7 วันอันตรายช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้เข้มข้นกว่าปกติจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตตลอดทั้งปี และให้ความสำคัญในการตั้งด่านชุมชน โดยชุมชนต้องมีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลระบุว่ารัศมีของการเกิดอุบัติเหตุ พบมีระยะประมาณ 5 กิโลเมตร ห่างจากบ้านพักเท่านั้น นอกจากนี้ สสส.จะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะการมุ่งสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเกี่ยวกับผลกระทบทางอุบัติเหตุ เพราะพบว่าผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักจะพิการและไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ทำให้เกิดโรคเครียดหลังอุบัติเหตุ รวมถึงความให้สำคัญของการคาดเข็มนิรภัยŽ”นายสุปรีดากล่าว

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธาน สอจร.กล่าวว่า มาตรการลดความเร็ว ลดการดื่มและเมาแล้วขับ เป็นหัวใจสำคัญลดอัตราการเจ็บตาย โดยปีนี้มีวันหยุดยาวกว่าทุกปีและประชาชนทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนาเร็วขึ้น โดยวันที่ 13 เมษายน เป็นวันที่คนดื่มสุราฉลองหนักมากที่สุดและมีอัตราตายสูงสุดในเย็นวันนั้น โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์และกระบะ ซึ่งพบการเกิดอุบัติเหตุบนถนนสายรองจะมีอัตรามากกว่าถนนสายหลัก ทั้งนี้ อยากขอความร่วมมือทุกภาคส่วนรณรงค์สร้างความเข้าใจผู้ใช้รถใช้ถนน สร้างมาตรการบังคับทางกฎหมายต้องเข้มงวด ลึกลงไปถึงกติกาหมู่บ้าน ชุมชนคนในพื้นที่ หากพบเห็นคนเมา คนขับรถซิ่ง ต้องช่วยกันป้องกันก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุ

ด้าน พญ.ณธิดา สุเมธโชติเมธา กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า สำหรับโรงพยาบาลราชวิถีอาจไม่มีผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากได้เดินทางออกต่างจังหวัด แต่สำหรับจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยว หรือถนนไฮเวย์ โรงพยาบาลที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ดังกล่าวมีจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติมาก เนื่องจากช่วงวันหยุดยาวมักเกิดอุบัติเหตุหมู่ จึงทำให้มีจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้น และสิ่งที่โรงพยาบาลต้องเผชิญทุกวันหยุดยาวต่อเนื่อง คือปัญหาขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุยังคงเป็นปัญหาดื่มแล้วขับการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล นอกเหนือจากการรณรงค์ลดอุบัติเหตุอย่างเข้มข้นแล้ว ต้องให้ความรู้กับประชาชนในการป้องกันตนเองและช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินได้ เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น สามารถโทรขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ถูกต้อง เพื่อลดความพิการและความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นŽ พญ.ณธิดากล่าว

ขณะที่นางเอ (นามสมมุติ) เล่าว่า ในช่วงสงกรานต์ เมื่อปี 2557 สามีดื่มจนเมาแล้วขับรถไม่สวมหมวกนิรภัย ทำให้รถจักรยานยนต์ล้มและศีรษะฟาดกับทางเท้า จนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงมากว่า 5 ปีแล้ว ไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และเมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปีจะนึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเสมอ หลายครั้งร้องไห้ท้อแท้ นึกถึงภาพครอบครัวที่เคยอบอุ่น เพราะสามีเป็นคนที่รักครอบครัวมาก ตอนนี้ทำได้เพียงตั้งใจดูแลสามีและลูกให้ดีที่สุด โดยมีความหวังว่าสักวันสามีจะมีอาการดีขึ้น ทั้งนี้ อยากฝากเป็นอุทาหรณ์เตือนสติผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เข้าใจว่าการไม่ดื่มเหล้าในเทศกาลจะเป็นเรื่องยาก แต่อยากให้ทุกคนที่คิดจะดื่ม ดื่มแล้วเมาไม่ขับเพราะอาจมีคนอีกมากมายที่ตกเป็นเหยื่อดื่มแล้วขับ และหากไม่ดื่มเลยได้ก็จะดีที่สุด เพื่อสุขภาพของตัวเองและเพื่อคนที่รัก ซึ่งสงกรานต์สนุกได้ไม่จำเป็นต้องพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image