อนุรักษ์ ‘เมืองเก่า’ รักษาจิตวิญญาณความเป็นไทย

เมืองเก่าŽ เป็นนิยามของเมือง ซึ่งมีคุณลักษณะและองค์ประกอบเมืองที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ทั้งคุณค่าในมิติทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปะ อันเป็นรากฐานสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ ควรค่าแก่การอนุรักษ์และส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่น่าภาคภูมิใจของชุมชน รวมถึงการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นของประเทศ

เมืองเก่าเพชรบุรี

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นเจ้าภาพหลัก ที่จะเข้ามาดำเนินการ งานอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า เป็นพิเศษเฉพาะพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการอนุรักษณ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า โดย สผ.จะเป็นสํานักงานเลขานุการ

รวีวรรณ ภูริเดช

นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ประกาศเขต พื้นที่เมืองเก่า และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอนุรักษณ์และพัฒนาเมืองเก่า จํานวน 31 เมือง ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งนี้มิติด้านสิ่งแวดล้อมที่ สผ.ต้องดูแล นอกจากจะเป็นเรื่องมลพิษทั้งหลาย และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ ยังมีมิติสิ่งแวดล้อมที่สําคัญอีกมิติหนึ่งคือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต มรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก ที่จะต้องให้ความสําคัญเพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่สําคัญระดับชาติที่ สผ.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ดูแล คือ พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า


เมืองเก่าปัตตานี

“สําหรับพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ คงทราบความสําคัญกันดีแล้ว แต่ในเรื่องเมืองเก่า แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็มีประเด็นที่ต้องขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาล ขณะนี้เรามีเมืองเก่าที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อการประกาศเขตพื้นที่เมืองเก่าแล้ว 31 เมือง และอยู่ระหว่างดําเนินการ 5 เมือง คือ เมืองพิษณุโลก เมืองร้อยเอ็ด เมืองอุทัยธานี เมืองตรัง และเมืองฉะเชิงเทรา”Ž เลขาธิการ สผ.กล่าว

Advertisement

รศ.โรจน์ คุณอเนก ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า กล่าวว่า คุณประโยชน์ของเมืองเก่าในสังคมร่วมสมัย เมืองเก่านั้นเป็นรากฐานของเมืองใหม่ โดยผู้คนที่อยู่เมืองเก่านั้นเป็นรากฐานที่ก่อให้เกิดเมืองใหม่ขึ้นมา ซึ่งในวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจึงทำให้ต้องเก็บรักษาของเก่าเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อส่งต่อให้กับลูกหลานในอนาคต โดยแกนหลักของความยั่งยืนนั่นก็คือ 1.ด้านสิ่งแวดล้อม ในเมืองเก่าเป็นเมืองที่รักษาสภาพแวดล้อมไว้ได้มากที่สุด บรรยากาศ แม่น้ำใสสะอาด ไม่มีมลพิษดังนั้น เมืองเก่าจึงช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ 2.ด้านเศรฐกิจ เมืองเก่ากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวจึงทำให้มีนักท่องเที่ยวมากันมากมาย 3.ด้านสังคม ซึ่งด้านสังคมเป็นด้านที่สำคัญมากที่สุด เพราะเมืองเก่าเป็นจิตวิญญาณเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนในการซึมซับพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ดังนั้น การอนุรักษ์เมืองเก่าจึงเป็นหัวใจสำคัญถ้าไม่อนุรักษ์ไว้ก็จะค่อยๆ หายไป ส่วนในด้านของการจัดทำแผนแม่บทนั้นจะเน้นเรื่องของกระบวนการมีส่วนร่วม เนื่องจากแต่ละเมืองเก่านั้นมีบริบทที่แตกต่างกัน และการอนุรักษ์นั้นสามารถไปได้กับการพัฒนาควบคู่กัน หรือเรียกได้ว่าการพัฒนาในเชิงอนุรักษ์

เมืองเก่าลพบุรี

รศ.โรจน์ บอกด้วยว่า เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ว่าเมืองเก่าเป็นเมืองที่มีชีวิตเมื่อหลายร้อยปีที่แล้วยังสามารถอยู่ และมีชีวิตอยู่ได้ หมายความว่ายังมีผู้คนอยู่อาศัยมีกิจกรรมประเพณียังทำอยู่นี่เป็นเรื่องที่น่าอัศจจรรย์ มันส่งผ่านกาลเวลามาทำให้เราเป็นปัจจุบัน ในขณะเดียวกันเมืองเก่าเป็นรากฐานเมืองใหม่ถ้าไม่มีเมืองเก่ามาก่อน ก็ไม่มีเมืองใหม่ ไม่ได้ ผู้คนที่นั่นจะเป็นพื้นฐาน ก่อให้เกิดเมืองใหม่ในปัจจุบัน

“ผมเรียนอย่างนี้ครับ ในเรื่องของความยั่งยืนเป็นสิ่งที่เราปรารถนา ความยั่งยืนเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสิ่งแวดล้อมเองกับเมืองเก่าในปัจจุบันก็จะเห็นเมืองเก่าเป็นเมืองที่รักษาสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดีแล้วมีต้นไม้พันธุ์พื้นถิ่นบรรยากาศเป็นแบบเดิมมีทั้งน้ำก็ยังใสสะอาดไม่มีมลพิษใดปะปนก็เป็นวิถีชีวิตแบบเดิมจริงๆ เพราะฉะนั้นเมืองเก่าช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ ในขณะเดียวกันด้านเศรษฐกิจเมืองเก่าเรามีประโยชน์ใดบ้างในยุคตอนนี้ที่การท่องเที่ยวแทบจะเป็นกระดูกสันหลังของชาติ คือนักท่องเที่ยว รายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยวŽ”

Advertisement

ทางด้านสังคม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด รศ.โรจน์บอกว่า เห็นได้ในหลายประเทศที่เขาเก็บแหล่งอย่างนี้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง ญี่ปุ่นเก็บอาคารสถานที่เก่าแก่ เมืองเก่าเกียวโต เมืองเก่าโอซาก้า เด็กเหล่านั้นถูกฟูมฟักเติบโตขึ้นมาซึบซับเรื่องจิตวิญญาณความเป็นคนญี่ปุ่น ขณะเดียวกันคนเหล่านี้เติบโตเป็นพลเมืองที่รักชาติบ้านเมืองพร้อมที่จะเสียสละทุกอย่างให้บ้านเมืองไปต่อได้

“ผมถึงเรียนว่าในเรื่องด้านของสังคมเมืองเก่าสำคัญที่สุดนั้นเป็นแหล่งเรียนรู้ของเยาวชน เราอย่าเพียงเห็นเมืองเก่าเป็นเพียงแหล่งท่องเที่ยวทำให้คนไปเที่ยวถ่ายรูป แต่ในจริงๆ ในระหว่างที่เขาถ่ายรูปเขาเห็นวัฒนธรรมต่างๆ เขาซึมซับความเป็นคนไทยโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว สิ่งเหล่านี้อยู่ในตัวเขาเป็นพื้นฐานที่จะก่อให้เกิดการดำเนินการในสังคม ในปัจจุบันผมเรียนว่าไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อมเศรษฐกิจสังคมนี่ ซึ่งเป็นแกนหลักความยั่งยืนอยู่ในเรื่องการอนุรักษ์เมืองเก่าŽ” รศ.โรจน์กล่าว

และบอกทิ้งท้ายว่า เพราะฉะนั้นการอนุรักษ์เมืองเก่าเป็นหัวใจสำคัญถ้าไม่อนุรักษ์ในส่วนนี้ไว้ ในอนาคตก็ไม่เหลือก็จะค่อยๆ หายไป จิตวิญญาณก็ค่อยๆ หายไป เพราะเมืองเก่าทั้งหลายจะเริ่มมีบริบทของความเจริญแทรกเข้าไป ในขณะที่เขาเติบโตไม่รู้ทิศทางที่สำคัญเขาก็ทำลายสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image