สุขสงกรานต์ ใส่ใจสุขภาพด้วย ‘อาหารไทย’

“อาหารไทย คือวัฒนธรรมไทยที่บรรพบุรุษไทยได้รังสรรค์จากภูมิปัญญาอันล้ำลึกแล้วถ่ายทอดส่งต่อให้ลูกหลานไทยหลายชั่วอายุคน จนกลับกลายเป็นมรดกทางปัญญาของแผ่นดินไทยแพร่หลายไปทั่วโลกจนเกิดการยอมรับ และครองเป็นอาหารที่ดีที่สุดของโลกในลำดับต้นๆ ณ เพลานี้” เป็นคำกล่าวของ อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ ที่หลายคนอาจจะเคยรับรู้มาแล้ว

อย่างไรก็ดี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ อาจารย์สง่าก็ยังมีคำแนะนำดีๆ มาแบ่งปันด้วย

อาจารย์สง่า บอกว่า เสน่ห์ของอาหารไทยไม่ได้อยู่เพียงแค่รสชาติถูกปากของผู้ที่ได้ลิ้มลองสัมผัสเท่านั้น แต่อาหารไทยยังทรงคุณค่าด้านโภชนาการ เพราะเป็นอาหารที่ให้สารอาหารครบ 5 หมู่ อยู่ในจานหรือสำรับเดียวกัน นอกจากนี้ อาหารไทยยังอุดมไปด้วยสมุนไพรนานาชนิดที่ออกฤทธิ์ทางสรรพคุณที่ดีต่อร่างกาย

“อาหารไทยได้สะท้อนความเป็นตัวตนของคนไทยในหลายหลากมิติ การปรุงและประกอบอาหารไทยต้องใช้ความประณีตวิจิตรบรรจง ทั้งเครื่องปรุง กรรมวิธีในการปรุง การตกแต่งจานและสำรับอย่างสวยงาม ชาวต่างชาติที่ได้กินรสชาติอาหารไทยพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กินอาหารไทยแล้วตื่นเต้นในรสชาติ เพียงคำแรกที่ตักเข้าปากเริ่มสัมผัสได้ซึ่งรสเผ็ด คอยลุ้นต่อว่าจะมีรสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ตามมาหรือไม่ ในที่สุดก็กลายเป็นรสชาติที่กลมกล่อม ถูกปากยิ่งนัก” อาจารย์สง่ากล่าว

Advertisement

นักวิชาการด้านโภชนาการบอกว่ายังมีอีกหลายเรื่องราวที่จะกล่าวถึงอาหารไทย แต่เพียงแค่นี้ก็น่าจะทำให้คนไทยภาคภูมิใจในความเป็นอาหารไทย

“แล้วเหตุไฉนไยเล่า สูเจ้าบางคนบางกลุ่มที่เป็นคนไทยในปัจจุบันจึงทิ้งเมินเหินห่างมรดกของบรรพบุรุษไทยเยี่ยงอาหารไทยไปได้ลงคอ น่าวิตกยิ่งที่เด็กไทยรุ่นใหม่ไม่ตักอาหารไทยใส่ปาก” อาจารย์สง่ากล่าว และว่า เด็กไทยภาคกลางกินน้ำพริกกะปิ แกงส้ม แกงเลียง ไม่เป็น ในขณะเดียวกัน เด็กไทยภาคอีสานก็กินแกงอ่อม ลาบ ส้มตำ ไม่เป็น ส่วนเด็กภาคเหนือก็ไม่กินแกงแค แกงโฮะ ไส้อั่ว และเด็กภาคใต้ไม่กินข้าวยำ แกงไตปลา และคั่วกลิ้ง

อาจารย์สง่า กล่าวว่า ถ้าเด็กไทยในวันนี้ไม่ภูมิใจและไม่กินอาหารไทย แล้วใครจะมาสืบสานอาหารไทยให้คงคู่อยู่กับแผ่นดินไทย

Advertisement

“ดังนั้น เรามาร่วมกันใช้เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทย ส่งเสริมให้เด็กไทยและคนไทยหันมากินอาหารไทย เพราะอาหารไทยถูกใช้เป็นสื่อกลางในทุกเทศกาลรวมทั้งสงกรานต์อยู่แล้ว การกินอาหารร่วมสำรับแบบไทยเป็นประเพณีและวัฒนธรรมไทยที่จะต้องอนุรักษ์ เพราะช่วงสงกรานต์กลับภูมิลำเนา เราใช้อาหารเป็นสื่อในการสังสรรค์ สรวลเส เฮฮา เรียกความรัก ความอบอุ่นและความเป็นสายเลือดเดียวกันฟื้นคืนกลับมาได้” อาจารย์สง่ากล่าว

แต่ถ้าจะให้เกิดมรรคผลดังกล่าว อาจารย์สง่ากล่าวว่า ควรจะให้สมาชิกในบ้านช่วยกันทำอาหารกินเองในบ้าน จะยิ่งเพิ่มความอบอุ่นมากขึ้น ยกตัวอย่างแค่ทำส้มตำกินกันในบ้าน แบ่งหน้าที่ปอกซอยมะละกอ แกะกระเทียม ล้างผัก ทอดหรือย่างไก่ ทอดหมู นึ่งปลา จัดสำรับเสร็จล้อมกินฝีมือตัวเอง เพราะทุกคนมีส่วนร่วมด้วยความเอร็ดอร่อย คุยกันแบบออกรสออกชาติ ความสุขก็เกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว

อาจารย์สง่า กล่าวเสริมว่า อาหารไทยที่เป็นสัญลักษณ์ช่วงฤดูร้อนมีมากมายหลากหลายเมนู อาทิ ข้าวแช่ แกงขี้เหล็ก แกงไข่มดแดงใส่ผักหวานป่า ส่วนอาหารว่างที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาด้านโภชนาการของบรรพบุรุษไทย ได้แก่ เมี่ยงคำ และข้าวต้มมัด การนั่งล้อมวงกินเมี่ยงคำคนละคำสองคำ คือการสร้างบรรยากาศแห่งความผูกพัน และที่น่ามหัศจรรย์ยิ่งคือ กินเมี่ยงคำเพียง 1 คำ จะได้สารอาหารครบ 5 หมู่ ได้วิตามินแร่ธาตุจากใบชะพลู และมะนาว ได้โปรตีนและไขมันให้พลังงานจากกุ้งแห้งและถั่วลิสง และได้คาร์โบไฮเดรตจากความหวานของน้ำเมี่ยง และได้สรรพคุณสมุนไพรจากขิง หอมแดง พริกขี้หนู

อาจารย์สง่า กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย อยากให้คนไทยเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาอย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ เพื่อไปกินอาหารไทยร่วมกับครอบครัวอย่างมีความสุข จึงขอเป็นส่วนหนึ่งที่จะออกมาย้ำเตือนให้คนไทยมีสติ ไม่ประมาท เมาไม่ขับ

“หากครอบครัวใดมีลูก โดยเฉพาะลูกชายที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อก ขอให้ครอบครัวนั้นช่วยกันย้ำเตือนและเฝ้าระวังให้จงหนัก” อาจารย์สง่ากล่าว และว่า คำอวยพรที่ทุกคนได้รับจากผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะเกิดขึ้นจริงไม่ได้ถ้าไม่ปฏิบัติเอง และคำอวยพรให้สุขภาพดีก็ตัวเรานี่แหละที่ต้องทำเอง ด้วยการกินอาหารไทย กินผักผลไม้ ใส่ใจลดหวาน มัน เค็ม เติมเต็มด้วยการออกกำลังกาย และพักผ่อนคลายจิตใจ

และปีใหม่ไทย ทุกคนจะได้ดั่งคำอวยพร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image