จิตแพทย์เตือน ‘ครอบครัว’ ป้ายแดง ‘ความเงียบ’ ไม่แก้ปัญหาชี้ยิ่งระเบิด

นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ครอบครัวป็นระบบสังคมที่เล็กที่สุด เป็นสถาบันแรกที่มีความสำคัญมากในการพัฒนาคุณภาพประชากรไทยในอนาคต อย่างไรก็ตาม พบว่าขณะนี้แนวโน้มจำนวนเด็กเกิดใหม่ของไทยลดลงเรื่อยๆ ซึ่งข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานในปี 2560 มีเด็กเกิดใหม่ทั่วประเทศเฉลี่ยนาทีละ 1.2 คน ลดลงกว่าปี 2556 ที่เกิดเฉลี่ยนาทีละ 1.4 คน และข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย รายงานล่าสุดในปี 2560 มีผู้จดทะเบียนสมรสทั่วประเทศ 297,501 คู่ เฉลี่ยวันละ 815 คู่ โดย 3 จังหวัด ที่มีสถิติการจดทะเบียนสมรสมากที่สุดในประเทศ อันดับ 1 คือ กรุงเทพมหานคร 45,577 คู่ รองลงมา จ.ชลบุรี 15,795 คู่ และ จ.นครราชสีมา 10,741 คู่

นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้คน 2 คน ที่มาจากต่างครอบครัว ต่างการเลี้ยงดู มาใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยืนยาวได้นั้น ทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องร่วมมือกัน เรียนรู้ ยอมรับซึ่งกันและกัน และปรับตัวเข้าหากัน ซึ่งเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตคู่ วิธีการที่จะทำให้ครอบครัวมีความมั่นคงและอบอุ่น ไม่มีความขัดแย้งทางความคิดและอารมณ์ มีคำแนะนำให้คู่สมรสใหม่ยึดหลักการครองเรือน 2 ประการ คือ การใช้กฎหลักครอบครัว ได้แก่ 1.ช่วยกันแบ่งเบาภาระในบ้าน ให้รู้หน้าที่ตนเอง 2.บริหารจัดสรรการเงินแต่ละส่วน เช่น เงินออม เงินใช้จ่ายรายวัน ใช้ในยามฉุกเฉิน และกำหนดคนรับผิดชอบ 3.ใส่ใจให้เวลากับครอบครัวดูแลซึ่งกันและกัน 4.ช่วยกันแก้ปัญหา และ 5.ห้ามทำร้ายร่างกายกันยามโกรธหรือทะเลาะกันโดยเด็ดขาด

นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า นอกจากนี้ การส่งเสริมให้ความรักมีความหวานชื่นและมั่นคง มี 8 ข้อ 1.ยึดสัญญาใจและทำตามกฎหลักครอบครัว 2.ชื่นชมเมื่อทำดี ใช้คำขอบคุณและขอโทษให้เป็นนิสัย 3.ทำบ้านให้รื่นรมย์ทั้งที่พักใจและให้ความอบอุ่น 4.ซื่อสัตย์และไว้วางใจกัน 5.ให้เกียรติและไม่ก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัวของกันและกัน 6.ไม่ควรคาดหวังว่าอีกฝ่ายจะต้องรู้ใจเราเสมอไป 7.คิดว่าครอบครัวของเขาคือครอบครัวของเราด้วย และ 8.เปิดใจรับฟังกัน ยอมรับความเห็นต่าง

“เมื่อมีปัญหาครอบครัว วิธีที่ไม่ควรนำมาใช้อย่างยิ่งคือ ความเงียบ ซึ่งหลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่าได้ผลดี แต่ข้อเท็จจริงนั้น วิธีการนี้เป็นการหนีปัญหา เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้รับการแก้ไขให้คลี่คลาย ยิ่งจะทำให้ปัญหาสะสม เกิดความเก็บกดและกดดันในใจมากขึ้น อาจระเบิดได้ตลอดเวลาเมื่อมีสถานการณ์มากระตุ้น ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดคือ ควรหันหน้าเข้าหากัน แม้จะโกรธหรือใช้อารมณ์โต้เถียงกัน แต่ก็นำไปสู่การแก้ปัญหานั้นๆได้” นพ.กิตต์กวี กล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.กิตต์กวี กล่าวว่า เรื่องใกล้ตัวที่สุดที่ทุกครอบครัวควรให้ความใส่ใจคือ การสื่อสารพูดคุยกัน การสื่อสารทางบวกถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสามี ภรรยา ไม่ควรใช้ถ้อยคำในลักษณะท้าทายกันด้วยอารมณ์หรือทิฐิ เช่น ถ้าแน่จริงก็เก็บของออกไปเลย, พูดแบบนี้ก็เลิกกันไปดีกว่า, เงียบไปเลย, ก็เป็นซะแบบนี้ถึงได้ดักดานอยู่แบบนี้, ถ้าฉันแต่งงานกับแฟนเก่า ป่านนี้คงสบายไปแล้ว, ที่มีปัญหาอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะแกนี่แหละ เป็นต้น รวมทั้งการพูดเชิงดูถูกเหยียดหยามพ่อแม่ญาติพี่น้องอีกฝ่าย เพราะคำพูดเหล่านี้จะเสียดแทง บั่นทอนจิตใจ ความรู้สึก ทำให้ความสัมพันธ์เปราะบาง แตกหักจนเกิดการหย่าร้างได้ง่ายขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image