‘อ.เดชา’ มอบอำนาจยื่นรับรองหมอพื้นบ้าน ใช้กัญชารักษาโรค 17 เม.ย. สสจ.สุพรรณบุรี

เมื่อวันที่ 16 เมษายน  นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้ทุกหน่วยงานช่วยเหลือ นายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ในการพัฒนาน้ำมันกัญชา ว่า ในวันที่ 17 เมษายน  เวลา 10.00 น. อาจารย์เดชา ได้มอบอำนาจให้ผู้จัดการมูลนิธิข้าวขวัญ ดำเนินการยื่นเรื่องเป็น “หมอพื้นบ้าน” ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สุพรรณบุรี โดยจะใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 ที่กำหนดคุณสมบัติไว้ เช่น มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ คนในหมู่บ้านชุมชนยอมรับอย่างน้อย 10 คน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สสจ. ลงชื่อรับรอง เนื่องจากระเบียบใหม่ยังไม่ออกมา และจะดำเนินการยื่นเรื่องนิรโทษกรรมครอบครองกัญชาไปพร้อมกันด้วย

“นอกจากนี้ อาจารย์เดชา รวมถึงทีมมูลนิธิสุขภาพไทย ประกอบด้วย นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิ นางรสนา โตสิตระกูล กรรมการมูลนิธิ ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก กรรมกรมูลนิธิ จะเข้าหารือเป็นการภายในกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในช่วงประมาณ 10.00 น. วันพรุ่งนี้ (17 เม.ย.) ซึ่งอาจจะมีคำแถลงออกมาภายหลังการหารือว่าเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ที่กังวล คือ มีผู้ป่วยจำนวนมากมาที่มูลนิธิข้าวขวัญ ทั้งคนไข้เก่าที่เคยรับยา และคนไข้ใหม่ที่ต้องการความช่วยเหลือ อาจต้องมีวิธีการรองรับหรือช่วยแก้ปัญหานี้ ซึ่งตนได้เสนอว่า เบื้องต้นอาจต้องแจ้งประชาชนก่อนว่า ยาทั้งหลายยังคงถูกยึดเอาไว้ยังไม่ได้รับคืน การแจกจ่ายตามเครือข่ายยังทำไม่ได้” นายวิฑูรย์ กล่าว

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องรอความชัดเจนหลังการหารือร่วมกันระหว่าง 3 มหาวิทยาลัย 5 มูลนิธิ ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ม.ขอนแก่น และวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ สถาบันการแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย ม.รังสิต มูลนิธิข้าวขวัญ มูลนิธิสุขภาพไทย มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) รวมถึง รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เลขาธิการ ป.ป.ส. และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในวันที่ 18 เมษายน 2562 ช่วงเวลา 09.00-12.00 น. ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อหาข้อยุติโดยเร็วว่า การทำงานหลังนิรโทษกรรมจะเป็นอย่างไรต่อไป เช่น ขออนุญาตทำโครงการวิจัย เป็นต้น โดยขอให้ผู้ป่วยที่ไปอาจจะต้องลงชื่อเอาไว้ ทั้งรายละเอียดอาการต่างๆ สถานที่อยู่ที่ติดต่อได้ เพื่อให้หลังหารือกับหน่วยงานต่างๆ แล้วเสร็จ สามารถเดินหน้าดูแลผู้ป่วยต่อไปได้

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า มีการประสานจากทางอาจารย์เดชาว่าจะมีการปรึกษาหารือ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของแนวทางการรับรองเป็นหมอพื้นบ้าน อย่างไรก็ตาม แนวทางการใช้น้ำมันกัญชา ยังไม่ได้เป็นแนวทางการแพทย์แผนไทยเท่าไรนัก เพราะเป็นการศึกษาที่รู้ว่ามี THC CBD เท่าไร ซึ่งเป็นแนวทางของแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนการปรุงยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมของแพทย์แผนไทยก็มีอยู่ ซึ่งหากหมอพื้นบ้านจะใช้ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศไม่มีปัญหาแน่นอน แต่การใช้กัญชาแบบเดี่ยวๆ คงต้องมีการหรือกันให้ชัดเจน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image