เปิดข้อมูลคุณภาพน้ำจาก ‘ตู้หยอดเหรียญ’ ทั่ว ปท.ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้นเกือบ70%

เมื่อวันที่ 17 เมษายน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากการเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง พบว่าคุณภาพน้ำของตู้น้ำหยอดเหรียญมีแนวโน้มดีขึ้น โดยปี 2561 มีผ่านเกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ร้อยละ 68.59 สูงขึ้นจากปี 2557 ที่มีเพียงร้อยละ 40.9 ปัญหาหลักที่ทำให้คุณภาพน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญไม่ผ่านเกณฑ์คือ ปนเปื้อนแบคทีเรีย เนื่องจากไม่มีการดูแลรักษาความสะอาดของตู้น้ำหยอดเหรียญ และขาดการบำรุงรักษาระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำภายในตู้ เช่น ไม่ล้างไส้กรอง ไม่เปลี่ยนไส้กรอง เป็นต้น

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า ประชาชนที่ใช้บริการตู้น้ำหยอดเหรียญ ควรสังเกตสภาพของตู้น้ำหยอดเหรียญทั้งภายในและภายนอก ตัวตู้จะต้องสะอาด ไม่สกปรก ทำจากวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน ไม่ผุกร่อนหรือเป็นสนิม จุดติดตั้งต้องมีความสะอาดโดยรอบ ตั้งอยู่บนพื้นที่เหมาะสม ไม่ตั้งอยู่ใกล้สถานที่ทิ้งขยะหรือสิ่งปฏิกูล ช่องรับน้ำภายในตู้ต้องสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ไม่มีคราบสกปรกหรือฝุ่นละออง หัวจ่ายน้ำต้องทำจากวัสดุที่เหมาะสมกับอาหาร เช่น สแตนเลส ฯลฯ ไม่ควรเป็นท่อพลาสติกหรือสายยาง ต้องสะอาด ไม่เป็นตะไคร้หรือมีสิ่งสกปรกบริเวณหัวจ่ายน้ำ สังเกตสี และกลิ่นของน้ำจะต้องไม่ผิดปกติ ด้านหน้าของตู้ต้องติดฉลากแสดงคำแนะนำการใช้งาน รวมทั้งมีสติ๊กเกอร์แสดงรายการตรวจสอบหรือดูแลรักษาที่น่าเชื่อถือ ระบุชื่อบริษัทเจ้าของ ชื่อผู้ตรวจ วันเวลาที่มาตรวจอย่างชัดเจน หากพบตู้น้ำหยอดเหรียญที่ไม่มีคุณภาพ มีสภาพชำรุด หรือสงสัยว่าน้ำจากตู้น้ำหยอดเหรียญนั้น ไม่สะอาดอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค สามารถแจ้งไปยังราชการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ให้เข้ามาตรวจสอบและดูแลได้ เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นในการควบคุมกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535

“ที่ผ่านมา กรมอนามัยได้ดำเนินการส่งเสริมให้การประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญเป็นไปอย่างถูกกฎหมายและมีสุขลักษณะที่ดีในการประกอบกิจการ ได้แก่ การจัดทำคำแนะนำคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่องแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญ การจัดทำร่างข้อบัญญัติท้องถิ่น เรื่อง สุขลักษณะการประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญ การส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาระบบคุณภาพในการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำหยอดเหรียญ (EHA 2003) รวมไปถึงการพัฒนาเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชน โดยในส่วนของการควบคุมกำกับการประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ นั้น ต้องอาศัยอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในการกวดขันด้านสุขลักษณะ ตามข้อบัญญัติท้องถิ่นและกระตุ้นให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการขออนุญาต โดยผู้ประกอบการจะต้องมายื่นขออนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ประกอบกิจการไม่เช่นนั้นจะมีความผิดฐานประกอบกิจการ โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image