ย้ำ! แรงงานต่างด้าวเข้า-ออกงาน ต้องแจ้งกรมจัดหางาน ฝ่าฝืนปรับ 20,000 บาท

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 22 เมษายน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวทำงานอยู่ในประเทศไทย ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับข้อปฏิบัติในการแจ้งเข้า-ออกจากงานของคนต่างด้าว ดังนั้น กกจ.จึงขอประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างทราบว่า พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 มาตรา 13 กำหนดให้นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวทำงาน มีหน้าที่ต้องแจ้งให้ กกจ.ทราบชื่อและสัญชาติของคนต่างด้าวและลักษณะงานที่ให้ทําภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่จ้าง และเมื่อคนต่างด้าวนั้นออกจากงานก็ต้องแจ้งให้ กกจ.ทราบภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่คนต่างด้าวออกจากงาน พร้อมทั้งระบุเหตุแห่งการออกจากงานของคนต่างด้าวนั้นด้วย

เพชรรัตน์ สินอวย

“สำหรับกรณีที่คนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามระบบการนำเข้าแบบเอ็มโอยู โดยการนำเข้าของผู้รับอนุญาตให้นําคนต่างด้าวมาทํางาน (บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ) เมื่อคนต่างด้าวนั้นออกจากงาน นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวจะต้องแจ้งให้ผู้รับอนุญาตฯ และ กกจ.ทราบภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่คนต่างด้าวออกจากงาน พร้อมทั้งระบุเหตุแห่งการออกจากงานของคนต่างด้าวนั้นด้วย” นางเพชรรัตน์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ก่อนคนต่างด้าวเข้าทํางานกับนายจ้างตามระบบการนำเข้าแบบเอ็มโอยู นายจ้างต้องจัดทําสัญญาจ้างเป็นหนังสือ โดยมีรายการอย่างน้อยตามที่อธิบดีกําหนด และเก็บสัญญาจ้างงานไว้ ณ ที่ทําการของนายจ้างเพื่อให้นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ และสําเนาสัญญาจ้างดังกล่าวเพื่อให้ลูกจ้างเก็บรักษาไว้

นางเพชรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากนายจ้างไม่แจ้งการเข้า-ออกจากงานของคนต่างด้าวในกรณีดังกล่าวข้างต้น จะมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท โดยนายจ้างสามารถแจ้งการเข้า-ออกจากงานของคนต่างด้าวได้ที่สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กกจ. สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในเขตพื้นที่ที่เป็นสถานที่ตั้งของสถานประกอบการที่คนต่างด้าวทำงานอยู่ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สายด่วน 1506 กด 2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image