กทม.สั่งซื้อเครื่องดับเพลิง 5 หมื่นถัง แจกทุกชุมชนทั่วกรุงเทพฯ

เมื่อวันที่ 22 เมษายน นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดหาถังดับเพลิง ว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.สำรวจข้อมูลความต้องการของชุมชนเพื่อติดตั้งถังดับเพลิงในแต่ละชุมชน ซึ่ง กทม.จะต้องจัดซื้อประมาณ 50,000 ถัง ขณะนี้ได้จัดทำร่างการประกวดราคา (ทีโออาร์) เสร็จแล้ว เบื้องต้นถังดับเพลิงที่จะจัดซื้อ แบ่งเป็น ถังดับเพลิงชนิดเคมีแห้ง (ถังสีแดง) ใช้ดับเพลิงประเภทเอ (A) เป็นเพลิงเกิดจากของแข็ง กระดาษ ไม้ ผ้า พลาสติกและยางและประเภทบี (B) เกิดจากน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม ประมาณร้อยละ 80 ส่วนที่เหลือเป็นถังดับเพลิงเคมีสูตรน้ำ (ถังสีเขียว) จะใช้ดับไฟทุกประเภท โดยใช้งบประมาณ 80 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มขั้นตอนประกวดราคาในเดือนมิถุนายน และได้ผู้รับจ้างในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อแจกจ่ายให้ชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อนจัดหลักสูตรอบรมความรู้พื้นฐานในการใช้ถังดับเพลิง เพื่อให้ชุมชนสามารถระงับเหตุขั้นเบื้องต้น

นายสกลธี กล่าวว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.ได้กำชับให้ดำเนินการตามขั้นตอนจัดซื้ออย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้ถังดับเพลิงที่มีคุณภาพดีที่สุด รวมถึงจะจัดทำคิวอาร์โค้ดบนตัวถังเพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาย้อนกลับ อาทิ อายุการใช้งาน ผู้จัดซื้อ เป็นต้น เพื่อให้ทุกกระบวนโปร่งใสและตรวจสอบได้ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ถังดับเพลิง อาทิ เครื่องดับเพลิง สำหรับชนิดผงเคมีแห้งต้องมีเครื่องหมาย มอก.รับรองขนาดบรรจุผงเคมีไม่ต่ำกว่า 6.8 กิโลกรัม (กก.) และขนาดบรรจุผงเคมีไม่ต่ำกว่า 9.07 กก. มีค่าความสามารถในการดับเพลิงไม่ต่ำกว่า 6A20B โดยมีรายงานการทดสอบจากหน่วยงานของรัฐได้แก่กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นต้น ถังต้องทำด้วยวัสดุที่เหมาะสมทนความดันได้ตามมาตรฐาน มอก.332-2537 และมีความหนาของวัสดุไม่น้อยกว่า 1 มม. สำหรับชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดไม่ต่ำกว่า 10 ปอนด์ ต้องได้มาตรฐาน UL หรือดีกว่าชนิดโฟม มีเครื่องหมายรับรองมอก.882-2532 ชนิดเคมีสูตรน้ำขนาดบรรจุสารดับเพลิงผสมกับน้ำไม่ต่ำกว่า 6 ลิตร ความสามารถดับเพลิง ไม่ต่ำกว่า 6A20B โดยมีรายงานการทดสอบจากหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นต้น

นายสกลธี กล่าวว่า โดยถังต้องทำด้วยวัสดุที่เหมาะสมทนความร้อนได้อย่างดี ส่วนชนิดน้ำยาเหลวระเหย น้ำยาต้องได้มาตรฐาน ULหรือดีกว่าขนาดบรรจุไม่ต่ำกว่า 10 ปอนด์ และขนาดบรรจุไม่ต่ำกว่า 15 ปอนด์ และถังต้องทำด้วยวัสดุที่เหมาะสมทนความร้อนได้อย่างดี 4.การรับประกัน ต้องรับประกันไม่ต่ำกว่า 1 ปี และผู้ขายต้องเข้าตรวจสอบอย่างน้อย 2 ครั้ง 5.การติดตั้งให้ติดตั้งบริเวณที่มองเห็นชัดเจนและนำไปใช้สะดวกไม่ติดตั้งในจุดที่มีอุณหภูมิสูงมีความชื้นหรือสกปรกได้ง่าย เช่น ตากแดด ตากฝน หรือจุดกำเนิดความร้อนติดตั้งห่างจากพื้นถึงปลายคันบีบไม่เกิน 1.50 เมตร ห้ามตั้งบนพื้นที่ไม่มีภาชนะรองรับ นอกจากนี้ ผงเคมีต้องไม่จับตัวเป็นก้อน อย่างน้อย 6 เดือน ต่อ 1 ครั้ง ตรวจสอบมาตรวัดแรงดันว่าใช้งานได้หรือไม่ตรวจสอบสายฉีด โดยปลดล็อกขยับขึ้นลงว่าสายยังยืดหยุ่นไม่แตกหักหรือรั่ว หากเป็นชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ ต้องตรวจสอบด้วยการชั่งน้ำหนักเท่านั้น ถ้าน้ำหนักหายไป ร้อยละ 10 ของถังให้บรรจุใหม่ เป็นต้น

“กทม.เคยจัดซื้อถังดับเพลิงล็อตใหญ่แจกจ่ายประชาชน เมื่อปลายปี 2554 แต่ขณะนั้นเกิดปัญหาการจัดซื้อถังดับเพลิงไม่มีคุณภาพ โดยตัวถังระเบิด หลายหน่วยงานจึงได้ร่วมกันตรวจสอบ ทำให้ สปภ.เกิดความกังวลในการจัดซื้อ จึงไม่เคยจัดซื้อถังดับเพลิงอีกตั้งแต่นั้นมา” นายสกลธี กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image