กทม.ทุ่ม 1.3 หมื่นล้านบาท สร้าง 3 อุโมงค์ระบายน้ำ

เมื่อวันที่ 23 เมษายน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โครงการก่อสร้างโมงระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด และโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 ภายหลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ กทม.ดำเนินการโครงการ มูลค่ารวม 13,825.2 ล้านบาท ว่า โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรจากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย 1. การก่อสร้างอาคารรับน้ำคลองบางบัว ขนาด 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) 2.อาคารรับน้ำคลองเปรมประชากร ตอนวัดหลักสี่ ขนาด 20 ลบ.ม./วินาที 3.อาคารรับน้ำคลองเปรมประชากร ตอนคลองบางเขนขนาด 40 ลบ.ม./วินาที 4.อาคารรับน้ำคลองเปรมประชากร ตอนถนนรัชดา ขนาด 20 ลบ.ม./วินาที 5.สถานีสูบน้ำและอาคารระบายน้ำ ขนาด 60 ลบ.ม./วินาที และ 6.อุโมงค์ ขนาด 5.7 เมตร ความยาว 13.5 กิโลเมตร (กม.) ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2563-2569 โดยใช้เวลาก่อสร้าง 54 เดือน และใช้เวลาจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง 78 เดือน วงเงิน 9,800 ล้านบาท แบ่งเป็น งานก่อสร้าง 9,600 ล้านบาท งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน 200 ล้านบาท

“โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ร้อยละ 70 และเป็นงบของ กทม. ร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม หากโครงการแล้วเสร็จจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่เขตดอนเมือง สายไหม หลักสี่บางเขน จตุจักร ครอบคลุมประมาณ 109 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) สามารถระบายน้ำจากพื้นที่ด้านบนของกรุงเทพมหานครได้เพิ่มขึ้น 5,000,000 ลบ.ม./วัน และในฤดูแล้งสามารถสูบน้ำเข้ามาเจือจางน้ำเสียในพื้นที่ได้” นายจักกพันธุ์ กล่าวและว่า ส่วนโครงการก่อสร้างโมงระบายน้ำคลองทวีวัฒนา บริเวณคอขวด ประกอบด้วย 1.สถานีสูบน้ำคลองทวีวัฒนา ขนาด 32 ลบ.ม./วินาที 2.ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาด 3.7 เมตร (ม.) ยาว 2,033 ม. 3.อาคารรับน้ำ 4.ประตูระบายน้ำ 32 แห่ง ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2563-2568 โดยใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน และใช้เวลาจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง 60 เดือน วงเงิน 2,274.2 ล้านบาท แบ่งเป็น งานก่อสร้าง 2,224.20 ล้านบาท งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน 50 ล้านบาท โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ร้อยละ 50 และเป็นงบของ กทม.ร้อยละ 50 หากโครงการแล้วเสร็จจะสามารถรองรับปริมาณน้ำจากพื้นที่ภายนอกไหลผ่านคลองทวีวัฒนาเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรีได้ประมาณ 40 ลบ.ม.ต่อวินาที และช่วยในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังจากน้ำฝนในพื้นที่เขตทวีวัฒนาหนองแขมและบางแคครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 60 ตร.กม.

นอกจากนี้ นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ขณะที่โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ และคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 ประกอบด้วย 1.อุโมงค์ระบายน้ำ ขนาด 3.7 ม. ยาวประมาณ 3,800 ม. 2.อาคารรับน้ำเข้าอุโมงค์ บริเวณซอยลาดพร้าว 103 3.อาคารรับน้ำเข้าอุโมงค์บริเวณคลองจั่น 4.อาคารรับน้ำเข้าอุโมงค์บริเวณคลองเจ้าคุณสิงห์ และ 5.ปล่องอุโมงค์เพื่อการต่อเชื่อมกับอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบเดิม ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2563-2567 โดยใช้เวลาก่อสร้าง 34 เดือน และใช้เวลาจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง 58 เดือน วงเงิน 1,751 ล้านบาท แบ่งเป็น งานก่อสร้าง 1,701 ล้านบาท งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน 50 ล้านบาท โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ร้อยละ 50 และเป็นงบของ กทม.ร้อยละ 50 ทั้งนี้ หากโครงการแล้วเสร็จจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เขตวังทองหลาง บางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม และคันนายาว ครอบคลุมพื้นที่ 25 ตร.กม. โดยสามารถเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างรวดเร็วขึ้น

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image