ประกาศ! อย.ขอปชช.แจ้งครอบครองกัญชาก่อน 19 พ.ค. หวังให้ อภ.ผลิตล็อตเร่งด่วน พ.ค.นี้

เมื่อวันที่  24 เมษายน  นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์  เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงความคืบหน้าการแจ้งการขอครอบครองกัญชาตามกฎหมายนิรโทษ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา22 แห่งพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ว่า   ข้อมูลการรับแจ้งการครอบครองกัญชา ณ วันที่  21 เมษายน 2562  แบ่งเป็น กลุ่มขอนิรโทษตามกลุ่มที่ 1   คือผู้ที่มีคุณสมบัติในการขอใบอนุญาตได้ เช่น หน่วยงานของรัฐ มหาวิทยาลัย ฯลฯ มีจำนวน 19 ราย แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 14 รายและในต่างจังหวัด 5 ราย กลุ่มขอนิรโทษตามกลุ่มที่ 2 คือ ผู้ป่วยที่ใช้กัญชารักษาโรคอยู่ มีจำนวน 6,395 ราย แบ่งเป็นในกรุงเทพฯ 1,185 ราย และในต่างจังหวัดอีก 5,210 ราย และกลุ่มขอนิรโทษตามกลุ่มที่ 3   คือ บุคคลอื่นๆ ที่ต้องส่งมอบของกลางก่อน และหากจะขออนุญาตต้องทำตามกฎหมาย โดยมี 1 รายที่เข้ามาแจ้ง  ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมข้อมูลใหม่อีกในสัปดาห์หน้า

นพ.ธเรศ  กล่าวว่า การมาแจ้งการครอบครองกัญชาตามมาตรา 22 โดยไม่ได้รับโทษ ก็อยากให้กลุ่มที่เข้าข่ายตามกฎหมายให้รีบมาแจ้งภายใน 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 19 พฤษภาคม 2562  หากเกินกำหนดจะไม่สามารถมาแจ้งได้อีก แต่ในกรณีผู้ป่วยเมื่อมาแจ้งภายในระยะเวลาดังกล่าว ก็จะสามารถขอใช้กัญชาทางการแพทย์ออกไปได้อีกประมาณ 90-180 วัน ซึ่งแล้วแต่ความเหมาะสม  สิ่งสำคัญขอให้รีบมาแจ้งการครอบครอง  เพราะมีความจำเป็นมาก เพื่อให้ได้มีข้อมูล  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการผลิตยาสำรองสำหรับผู้แจ้ง โดยจะมีการหารือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.)ในเรื่องนี้  อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกัญชาเห็นตรงกันว่ามีประโยชน์ทางการแพทย์ ทางกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์ภายใต้พื้นฐานข้อมูลวิชาการและความรู้  แต่ก็เข้าใจดีว่า ก่อนหน้านี้มีการใช้กัญชามาก่อนแล้ว ซึ่งองค์ความรู้ตรงนี้ องค์ความรู้ตรงนี้จึงเป็นประโยชน์มาก และอยากเชิญชวนให้เข้ามาวิจัยร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่ายังคงมีความกังวลเรื่องยาหรือสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ผลิตไม่เพียงพอ นพ.ธเรศ กล่าวว่า  เรื่องนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือแพทย์ที่ผ่านการรับอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ และวัตถุดิบในการผลิต โดยในเชิงบริหารเราก็พิจารณาแล้วว่า ช่วงปลายเดือนวันที่ 29-30 เมษายน 2562 จะมีแพทย์ที่ผ่านการอบรมการใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์โดยกรมการแพทย์ ประมาณ 200 คนออกมารุ่นแรก  และทางอย. ก็ได้บอกกับทางกรมการแพทย์ว่า ขอให้เพิ่มการอบรมขึ้นมาอีก อาจทำเป็นอีเลิร์นนิ่งหรืออะไรก็ตาม เพื่อให้มีแพทย์กระจายทั่วประเทศ ส่วนเรื่องการผลิตกัญชามาใช้ทางการแพทย์นั้น ทาง อภ. คิดว่าจะผลิตได้ในเดือนกรกฎาคมก็จะมีน้ำมันกัญชามาใช้ในกลุ่มนี้ แต่ในกรณีที่จำเป็น อภ.  ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตยาเพื่อความมั่นคงของประเทศด้วยแล้วนั้น ก็จะมีการพิจารณาว่าจะผลิตออกมาล็อตเร่งด่วนก่อนในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้  ซึ่งจะเผื่อไว้ในกรณีที่คนไหนแจ้งการครอบครองไว้ที่เดือนพฤษภาคมเท่านั้น ก็จะมีการผลิตเพื่อสำรองให้อีกทางหนึ่ง ก่อนรอล็อตการผลิตในเดือนกรกฎาคม

“ส่วนวัตถุดิบไม่ต้องกังวล มีหลายวิธีจะได้มา ทั้งของกลาง ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)  ก็เคยแจ้งว่ามีคุณภาพหลายเกรด บางเกรดก็ค่อนข้างดี โดยของที่มีคุณภาพดี และเมื่อนำไปตรวจสอบว่ามีการปนเปื้อนหรือไม่นั้น หากไม่พบก็นำมาใช้ได้ด้วย  แต่ก็มีอีกวิธีคือ  การนำเข้าวัตถุดิบมาใช้ก่อนได้ เพื่อบรรเทาระหว่างรอการปลูกการผลิต อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในการนำเข้าวัตถุดิบนั้น ต้องอยู่ที่องค์การเภสัชกรรมในการพิจารณา แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นการทำประโยชน์เพื่อประชาชน โดยคนไหนที่แจ้งการครอบครองถึงแค่เดือนพฤษภาคม และไม่ได้แจ้งเพิ่มก็จะได้มียาใช้ไปก่อนด้วย” เลขาธิการ อย. กล่าว

Advertisement

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image