กรมการแพทย์ยินดีร่วมม.รังสิต วิจัยสารกัญชายับยั้งเซลล์มะเร็งปอด-ประเดิมอบรมหมอจ่ายยารุ่นแรก

จากกรณีมหาวิทยาลัยรังสิต แถลงข่าวความสำเร็จสารสกัดกัญชา คือ ซีบีเอ็น และทีเอชซี สามารถยับยั้งการเซลล์มะเร็งปอดมนุษย์ในหนูทดลองได้ และได้ประสานโรงพยาบาล 3 แห่งของกรมการแพทย์ คือ รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน และ รพ.นพรัตนราชธานี เพื่อวิจัยต่อในมนุษย์

เมื่อวันที่ 24 เมษายน  นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทาง นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการประสานติดต่อมายังกรมการแพทย์ เพื่อร่วมศึกษาวิจัยสารสกัดกัญชายับยั้งเซลล์มะเร็งปอดในมนุษย์ เนื่องจาก มหาวิทยาลัยรังสิตมีคณะแพทยศาสตร์ โดยมี รพ.ราชวิถี รพ.เลิดสิน และ รพ.นพรัตนราชธานี เป็นสถาบันร่วมมือผลิตแพทย์ของ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งกรมการแพทย์ยินดีที่จะร่วมมือในการศึกษาวิจัย ทั้งนี้ สารสกัดกัญชาที่มีผลยับยั้งเซลล์มะเร็งก็เป็นองค์ความรู้กันมาก่อนแล้ว ต่างประเทศก็เคยทำแล้ว สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ก็เตรียมที่จะศึกษาด้วยเช่นกัน

“มหาวิทยาลัยรังสิต และกรมการแพทย์มีการพูดคุยหารือกันมาก่อนแล้วว่า จะมีการศึกษาร่วมกัน และคงไม่ใช่แค่โรงพยาบาล 3 โรงนี้ ยังรวมถึงสถาบันมะเร็งแห่งชาติที่จะวิจัยด้วย เพราะเรามีคนไข้พอสมควร สถาบันมะเร็งฯ ก็มีคนไข้มะเร็งจำนวนมาก และมีโรงพยาบาลมะเร็งในต่างจังหวัดอีก 7 แห่ง เราก็ยินดี อย่างไรก็ตาม การหารือยังเป็นแค่การวางกรอบเอาไว้ว่าจะศึกษาร่วมกัน ซึ่งยังต้องมีกระบวนการหารือต่างๆ ในเชิงลึกอีก และต้องใช้เวลาอีกนาน” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการอบรมผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมในการใช้กัญชาทางการแพทย์รุ่นแรกจะเริ่มวันที่ 29-30 เมษายนนี้ ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพให้ความสนใจกันมาก เพราะจากการเปิดรับสมัครลงทะเบียนทางออนไลน์วันแรก เพียงแค่ครึ่งวันก็ลงทะเบียนจนเต็มโควต้า 200 คนแล้ว ซึ่งการอบรมรุ่นถัดไปหรือรุ่นที่2 ในเดือนพฤษภาคม จะจัดขึ้นวันที่ 23-24 พฤษภาคม  2562 โดยจะเปิดลงทะเบียนออนไลน์วันที่ 10 พฤษภาคมนี้

Advertisement

ด้าน นพ.สมพงษ์ ตันจริยาภรณ์  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กล่าวว่า การศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต เป็นแค่การประสานหารือเบื้องต้น ยังต้องหารือเพิ่มเติมอีก และต้องเสนอเรื่องให้อธิบดีกรมการแพทย์อนุญาต อีกทั้งยังต้องเสนอคณะกรรมการจริยธรรมวิจัยในคนพิจารณาอนุญาตด้วย

ด้าน นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์  กรมการแพทย์  กล่าวถึงเนื้อหาการอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์ของกลุ่มแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกรรม ในวันที่ 29-30 เมษายนนี้ ว่า ปัจจุบันเริ่มมีงานวิจัยและวิชาการสนับสนุนว่ากัญชามีประโยชน์ในการรักษาโรคผู้ป่วย แต่กัญชาไม่ใช่ยาครอบจักรวาลที่รักษาได้ทุกโรคมีทั้งข้อดีและมีข้อต้องระวัง เพราะกฎหมายฉบับใหม่ของไทยมีการคลายล็อกกัญชา ให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ เพื่อรักษาผู้ป่วยและการศึกษาวิจัย โดยหลักสูตรที่จะอบรมนั้น จะทำให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยได้ในระดับหนึ่งว่าสิ่งใดที่ควรระมัดระวัง โดยแพทย์และทันตแพทย์ จะเป็นผู้ใช้ ส่วนเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยา ดังนั้นต้องมีความรู้เพื่ออธิบายและให้ความรู้กับผู้ป่วย

นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวว่า  เบื้องต้นหลักสูตรจะจัดในปีงบประมาณ 2562  มีทั้งหมด 6 รุ่น รุ่นแรกเริ่มวันที่ 29-30 เมษายน  รุ่นที่ 2 เริ่มวันที่ 23-24 พฤษภาคม  ซึ่งเปิดรับสมัครวันที่ 10 พฤษภาคมทางระบบออนไลน์ ส่วนรุ่นต่อไปยังไม่ได้กำหนดแต่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายนนี้   หากมีความต้องการเพิ่มก็จะดำเนินการต่อ โดยการดำเนินการนั้นทำภายใต้คณะกรรมการพิจารณาและรับรองหลักสูตรการนำกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ ซึ่งมีตัวแทนจากหลายภาคส่วน ทั้ง ราชวิทยาลัยและสมาคมต่างๆ อย่างไรก็ตาม หลักสูตรนี้เปิดกว้าง หากหน่วยงานใดอยากจะจัดหลักสูตรก็สามารถส่งข้อมูลหลักสูตรมาให้ทางคณะกรรมการพิจารณา หากคณะกรรมการเห็นชอบก็สามารถจัดหลักสูตรได้

Advertisement
นพ.อรรถสิทธิ์ ศรีสุบัติ

“รายละเอียดหลักสูตร ประกอบด้วย 1.นโยบายการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ สิ่งที่คาดหวังและทิศทางการใช้กัญชา 2.ข้อมูลพื้นฐานของกัญชา เช่น สารสกัดจากกัญชา สายพันธุ์กัญชา สารออกฤทธิ์จากกัญชา ระยะเวลาออกฤทธิ์ รวมถึงระบบของร่างกายที่จะตอบรับกับการใช้กัญชา 3.เรื่องของกฎหมายในการใช้กัญชาทิศทางและการกำกับดูแล 4.การนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์เป็นอย่างไรบ้าง โรคใดที่สามารถใช้กัญชาได้ 5.รู้จักวิธีการเริ่มใช้กัญชา การพิจารณาการจ่ายยากับผู้ป่วยว่ารายใดควรได้รับสารสกัดจากกัญชาร่วมกับการดูประวัติว่าสามารถใช้กัญชาได้หรือไม่ โดยประเมินความเสี่ยงและประโยชน์และ 6.กัญชายังมีขอบเขตเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ต้องระวังถูกนำไปใช้เพื่อสันทนาการ ระวังอย่าให้ถูกนำไม่ใช้ผิดวัตถุประสงค์ เป็นต้น” นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าว และว่า การจะขอรับใบอนุญาตสั่งใช้หรือจ่ายสารสกัดกัญชาได้ต้องผ่านหลักสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองเท่านั้น

นพ.อรรถสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยที่จะได้รับกัญชา เช่น โรคลมชัก ภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้เป็นโรคปวดประสาท และโรคบางโรคซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆ ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ควรใช้ เช่น กลุ่มที่มีประวัติโรคทางจิต ผู้ที่แพ้สารที่ใช้ในการสกัดกัญชา โรคหัวใจที่มีอาการ โรคตับรุนแรง เป็นต้น อย่างไรก็ตามในไทยยังไม่มีการใช้ตัวยาจากสารสกัดกัญชา จะมีแค่ในต่างประเทศที่ใช้รักษาโรคลมชัก และรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยที่เป็นโรคปลอกประสาทหดเกร็ง ดังนั้น ในไทยหากได้สารสกัดจากกัญชาจะเป็นผลิตภัณฑ์ยังไม่ใช่ยา ซึ่งขณะนี้ก็จะมีขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่จะมีการสกัดและได้ผลิตภัณฑ์น้ำมัน มาให้ใช้ก่อนในเดือนกรกฎาคมนี้

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image