ห่วงซ้ำรอย ‘โฮปเวลล์’ กลุ่มค้าน ‘ทางเลียบเจ้าพระยา’ ยื่นศาลปกครองโต้กทม.-ยันสู้ถึงที่สุด (คลิป)

เมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง พร้อมด้วย ทนายความตัวแทนของ น.ส.ส.รัตนมณี พลกล้า เข้ายื่นคำชี้แจงเพิ่มเติมประกอบคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ส.88/2561 ระหว่างเครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม กับภาครัฐ 4 หน่วยงาน เพื่อให้ยกเลิกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีการยื่นฟ้องคดีพร้อมเอกสารประกอบราว 3,000 หน้า ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2561

นางภารนีกล่าวว่า หลังจากตนและเครือข่ายฯ เข้ายื่นฟ้องคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวม 4 หน่วยงาน ในช่วงปลายปี 2561 ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 กทม.ได้ยื่นเอกสารชี้แจงต่อศาลปกครอง มีเนื้อหาโดยสรุปว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการทำตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 โดยมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หากศาลสั่งระงับการก่อสร้างหรือระงับการดำเนินการจนกว่าคดีจะสิ้นสุด จะทำให้เสียโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำให้ประชาชนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม ซึ่งเครือข่ายไม่เห็นด้วย และยังยืนยันว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวไม่มีรายละเอียดชัดเจน กระบวนการการมีส่วนร่วมที่ กทม.อ้างถึง ก็ไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่ระบุนั้น เท่าที่ทราบคือ มีการส่งไปที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จริง แต่ยังไม่ผ่าน ดังนั้น ในวันนี้จึงเดินทางมายื่นเอกสารคำชี้แจงเพิ่มเติม

“โครงการนี้จะต้องมีการศึกษาความเหมาะสม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม แต่เท่าที่ทราบคือ มีการส่งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปแล้ว แต่ยังไม่ผ่าน รายละเอียดโครงการในจุดต่างๆ ที่ชัดเจนก็ยังไม่มีการอธิบาย ประชาชนก็ไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงแม้มีการจัดเวทีรับฟัง ส่วนประเด็นการบุกรุกพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการพัฒนาพื้นที่ให้ประชาชนเข้าถึงอย่างเท่าเทียมนั้น สามารถใช้กฎหมายดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีโครงการฯ ตัวสัญญาจ้างที่ปรึกษา งานจ้างที่ปรึกษาสำรวจออกแบบและทำแผนแม่บทก็ไม่มีความเหมาะสม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การระงับโครงการไว้ก่อนจะเกิดประโยชน์สาธารณะระยะยาว การเร่งทำโครงการต่างหากที่จะก่อความเสียหายและขาดการบูรณาการตามยุทธศาสตร์ชาติ ถ้าทำไปโดยเร่งรีบ ขาดความครบถ้วนรอบด้านในการศึกษา อาจจะเป็นความเสียหายร้ายแรงในอนาคต เหมือนโครงการโฮปเวลล์ แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติ หากมีโครงการใดๆ ที่จะทำให้เสียหายต้องตั้งกองทุนเยียวยา” นางภารนีกล่าว

Advertisement

อ่านข่าวย้อนหลัง https://www.matichon.co.th/local/news_1236649

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image