‘บิ๊กอู๋’ มอง 1 ปี ‘แรงงาน’ ไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ กำลังสำคัญพัฒนาชาติ

หมายเหตุ – บิ๊กอู๋Ž พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์พิเศษเนื่องใน วันแรงงานแห่งชาติŽ ประจำปี 2562 โดยยืนยันกับ มติชนŽ ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับ ผู้ใช้แรงงานŽ เพราะถือเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

พล.ต.อ.อดุลย์บอกว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 66 ล้านคน เป็นวัยแรงงาน 38 ล้านคน ได้ทำงานกว่า 37 ล้านคน มีอัตราการว่างงาน ร้อย 0.9 อันดับที่ 4 ของโลก ถือว่าน้อยมาก ซึ่งล่าสุดสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก ซึ่งดูจากอัตราการว่างงาน และอัตราเงินเฟ้อ ที่อยู่ในระดับต่ำ

“เรามีแรงงานในระบบ 66.9 ล้านคน แรงงานนอกระบบ เช่น ภาคเกษตร แม่ค้า รับงานไปทำที่บ้าน ฯลฯ 20 ล้านคน มีแรงงานที่ไปทำงานต่างประเทศกว่า 4 แสนคน (ส่งเงินกลับประเทศ 140,000 ล้านบาทต่อปี) มีแรงงานต่างด้าวประมาณ 3.2 ล้านคน ขณะนี้มีแรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมประมาณ 16.1 ล้านคน”Ž พล.ต.อ.อดุลย์กล่าว

Advertisement

สำหรับการดูแลผู้ใช้แรงงาน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานอย่างมาก ทั้งเรื่องการส่งเสริมให้คนไทยมีงานทำ การเพิ่มทักษะให้ผู้ใช้แรงงาน การคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน และความปลอดภัย

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถ้าดูจากอัตราการว่างงาน ซึ่งมีเพียงร้อย 0.9 ถือว่าต่ำมาก ถือว่ารัฐบาลมีประสิทธิภาพที่ทำให้คนไทยมีงานทำมากขึ้น โดยให้บริการจัดหางานผ่านศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) ผลการดำเนินงาน จำนวน 651,540 คน ให้บริการจัดหางานผ่านตู้งาน (Job Box) 500 ตู้ สร้างยุวแรงงาน 35,403 คน ปีนี้จะมีอีกประมาณ 50,000 คน ที่จะเข้าโครงการ ขณะนี้มีสถานประกอบการกว่า 1,000 แห่งจากทั่วประเทศ ที่เข้าโครงการ สร้างเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ 152,186 คน ทั้งแรงงานในและนอกระบบ ทำงานไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อวัน ได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 45 บาท ปีนี้จะมีอีกประมาณ 1 แสนคน อีกทั้งร่วมกับกระทรวงยุติธรรมสร้างอาชีพให้ผู้ต้องขังแล้ว 58,069 คน โดยจัดฝึกอาชีพ ให้งานทำ เมื่อออกมาจะมีวิชาชีพติดตัวŽ” พล.ต.อดุลย์ระบุ

นอกจากนี้ พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า ได้ส่งเสริมให้ไปทำงานในต่างประเทศ ในปี 2561 ประมาณ 115,654 คน ทั้งเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และอิสราเอล ถ้าในภาพรวมประมาณ 4 แสนคน มีรายได้เข้าประเทศ 144,451 ล้านบาท ทั้งนี้ มีการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน (Super Worker) รองรับอุตสาหกรรมและบริการในอนาคต เป้าหมาย 59,300 คน ปีที่แล้วทำได้ 42,959 คน มีการฝึกทักษะอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย ปี 2561 ฝึกไปได้ 281,706 คน ในจำนวนนี้ ฝึกเป็นช่างอเนกประสงค์ หรือช่างชุมชน เช่น ประปา ไฟฟ้า ก่อสร้าง ฯลฯ 11,598 คน และยังฝึกอาชีพเสริม อาชีพอิสระ เช่น ทำอาหาร จักสาน เย็บผ้า เป็นต้น อีก 270,108 คน ซึ่งจากการติดตามการมีงานทำ พบว่าร้อยละ 67.70 นำความรู้ไปประกอบอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้น
พล.ต.อ.อดุลย์บอกว่า มีการจัดตั้งศูนย์บริหารแรงงานในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อจัดหางาน 15,638 อัตรา เพื่อป้อน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และยังวางแผนในปีนี้และปีหน้าต่อเนื่อง ฝึกอบรมและทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน 5,845 คน และส่งเสริมให้สถานประกอบการในพื้นที่พัฒนบุคลากร ฝึกอบรมลูกจ้าง 537,258 คน แนะแนวอาชีพอีก 27,397 คน และอนุญาตทำงานอีก 6,660 คน

“ประเทศไทยก็มีการใช้แรงงานต่างด้าว และก่อนหน้านี้มีปัญหา เราได้มีการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา กัมพูชา และลาว ให้เข้าระบบ โดยพิสูจน์สัญชาติ ทำทะเบียนประวัติ ขอใบอนุญาตทำงาน อีก 1,187,803 คน ขณะนี้แรงงานต่างด้าวประมาณ 3.2 ล้านคน เข้าสู่ระบบหมดแล้ว และต่อไปจะให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศโดยระบบเอ็มโอยูแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งเรื่องนี้ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศอย่างมาก ว่าเราสามารถจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวได้ และเมื่อแรงงานต่างด้าวเข้ามามากๆ ขณะนี้ก็ได้มีการจัดทำกำหนดอาชีพสงวนสำหรับคนไทยที่แรงงานต่างด้าวห้ามทำ 39 อาชีพ ในจำนวนนี้ เป็นงานที่ห้ามทำโดยมีเงื่อนไข 11 อาชีพ และห้ามทำโดยเด็ดขาด 28 อาชีพŽ” พล.ต.อ.อดุลย์กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ว่า ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า ตำรวจ ออกตรวจตราแรงงานในเรือประมง เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงแบบผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ที่ศูนย์ตรวจการเข้าออกเรือ (PIPO) 70,771 ลำ มีแรงงานเข้าตรวจสอบ 864,433 คน ส่วนของการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนั้น ได้ให้สัตยาบันกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ทั้งอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องแรงงานบังคับ ปราบปรามการเกณฑ์แรงงานหรือการใช้แรงงานบังคับในทุกรูปแบบ หรือ P29 ที่จะมีผลภายใน 1 ปี ให้สัตยาบันว่าด้วยเรื่องการทำงานภาคประมง พ.ศ.2550 เพื่อยกระดับการคุ้มครองการทำงานบนเรือ หรือ C188 อีกทั้งล่าสุดได้มีการลงนามเอ็มโอยูว่าด้วยงานที่มีคุณค่า (Decent Work Country Program) เพื่อให้ทุกคนได้เข้าสู่โลกแห่งการทำงานในอนาคตได้อย่างราบรื่น ได้ส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานแรงงานไทยในสถานประกอบการ 3,560 แห่ง ซึ่งสถานประกอบการดำเนินการจัดทำระบบมาตรฐานแรงงานไทยแล้ว 1,281 แห่ง มีลูกจ้างเกี่ยวข้อง 620,181 คน ตลอดจนมีการส่งเสริมการปฏิบัติต่อแรงงานที่ดีในสถานประกอบการ 4,191 แห่ง มีสถานประกอบการนำไปใช้ 3,435 แห่ง ลูกจ้าง 37,548 คน


“จากความมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ทำให้การจัดอันดับประเทศที่ค้ามนุษย์ หรือเทียร์ (Tier) เดิมที่ไทยเคยได้ เทียร์ 3 ขณะนี้เลื่อนขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 ซึ่งมีผลทำให้สหภาพยุโรป (อียู) ปลดใบเหลือง และได้รับการจัดให้เป็นประเทศที่มีความสำเร็จมาก (Significant Advancement) ในการขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย จนสินค้าทางการเกษตรของไทยสามารถส่งออกไปขายในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้”Ž พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวและว่า ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมาย ทั้งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2562 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้าง เช่น สิทธิการลากิจโดยได้รับค่าจ้าง ค่าชดเชย 400 วัน สำหรับลูกจ้างอายุงาน 20 ปี ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 นอกจากนี้ ยังมีการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในภาคประมง พ.ศ. … ยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …

ในเรื่องการประกันสังคมนั้น พล.ต.อ. อดุลย์บอกว่า ขณะนี้มีผู้ประกันตนอยู่ 16.10 ล้านคน เนื่องจากมีการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้ามาสมัครเป็นผู้ประกันตน มาตรา 40 เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองดูแลในด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้วย ซึ่งปี 2561 สมัครเข้ามา 623,516 คน และยังมีการคืนสิทธิให้ผู้ประกันตน มาตรา 39 ตามเป้าหมาย 7 แสนคน แต่สมัครเข้ามาขอคืนสิทธิ 384,086 คน หรือร้อยละ 49 ทั้งนี้ ยังมีการเพิ่มสิทธิกองทุนเงินทดแทน เพื่อให้ความคุ้มครองลูกจ้างของส่วนราชการหรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรกว่า 1 ล้านคน อีกทั้งยังจัดให้บริการตรวจสุขภาพประจำปีให้ผู้ประกันตนอีก 433,715 คน ตั้งเป้า 3 ปี ให้ได้ 3 ล้านคนเป็นการตรวจ 14 รายการ เฉลี่ยคนละประมาณ 800 บาท ถามว่าในอนาคตจะดูแลแรงงานอย่างไร เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ไทยได้ลงนามเอ็มโอยูว่าด้วยงานที่มีคุณค่า หมายถึงการได้รับความคุ้มครองด้านค่าจ้าง สิทธิความเป็นอยู่ สุขภาพอนามัย ความปลอดภัย เป็นหลักประกันว่า เมื่อคุณมาทำงาน รัฐบาล นายจ้างต้องให้การคุ้มครองอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม มีการเพิ่มทักษะฝีมือ จัดหางาน ซึ่งไทยถือเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ทำเอ็มโอยูดังกล่าวŽ

พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า อย่างไรก็ดี เมื่อถึงวันแรงงาน ผู้ใช้แรงงานก็จะเรียกร้องเรื่องสิทธิหรือสวัสดิการทุกปี ซึ่งมีประมาณ 10 ข้อ และกระทรวงแรงงานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยประกันสังคมได้ปรับฐานเงินขั้นต่ำผู้ประกันตน ที่เดิมเพดานไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท จะได้ 960 บาท ปรับเป็น 20,000 บาท เริ่มที่ 5,000 บาท

หรือแม้แต่กรณีลูกจ้างพ้นจากมาตรา 33 และไปเข้ามาตรา 39 จะไม่ตัดสิทธิรับเงินบำนาญ จะใช้ค่าจ้างเดิมคำนวณเงินบำนาญ ซึ่งจะทำให้ได้เงินบำนาญมากขึ้น ส่วนการคุ้มครองมี 7 เรื่อง ที่สำคัญๆ เช่น กำหนดเกณฑ์เกษียณอายุจาก 55 ปี ให้เป็น 60 ปี มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจ มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ

แต่หากพูดถึงค่าจ้างขั้นต่ำ พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ด) ที่เป็นไตรภาคี คือ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่งปี 2561 มีการปรับขึ้นร้อยละ 5 หลังจากไม่ได้ขึ้นมาหลายปี ซึ่งขณะนี้ไทยมีค่าจ้างขั้นต่ำค่อนข้างสูงในอาเซียน อยู่ในอันดับที่ 3 รองจากสิงคโปร์ และบรูไน

“เรื่องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ต้องพิจารณากันหลากหลาย คณะกรรมการทั้งกระทรวงแรงงาน สภาพัฒน์ ภาคเอกชน กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ลูกจ้าง นักวิชาการ มีหลักเกณฑ์การพิจารณาทั้งสภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ปัจจัยแวดล้อม และยึดว่าต้องทำให้แรงงานอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีเกียรติ สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของบอร์ดค่าจ้าง แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้ผู้ใช้แรงงานหันกลับมาพิจารณาด้วยคือ การพัฒนาทักษะฝีมือให้ได้มาตรฐาน เพราะถ้ามีฝีมือและได้มาตรฐานเชื่อว่านายจ้างจะขึ้นค่าจ้างให้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการประกาศตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำประจำปีอีกต่อไป” พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวและว่า ขณะนี้ได้เร่งจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง และได้มีการออกประกาศค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานในหลายสาขาอาชีพ แต่เรื่องนี้แรงงานส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจและมักละเลยการเข้าทดสอบฝีมือตามมาตรฐานแรงงาน

สำหรับทิศทางแรงงานในอนาคต ปี 2562-2563 นั้น พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า รัฐบาลจะมุ่งดูแลคนไทยให้เข้าสู่งานที่มีคุณค่า มีการคุ้มครองสิทธิ มีค่าจ้างและสวัสดิการที่ดี สิ่งแวดล้อมดี มีทักษะฝีมือ มีอาชีวอนามัยและทำงานอย่างปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนคนที่ไปทำงานในต่างประเทศ จะต้องไปอย่างถูกต้องและอยู่ในระบบ เพื่อให้ได้รับการคุ้มครอง และต้องให้แรงงานไปเพื่อหารายได้ พัฒนาตัวเอง แล้วนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศบ้านเกิด อีกทั้งยังจะส่งเสริมผู้สูงอายุ ผู้พิการ และยุวแรงงาน ให้มีงานทำ แรงงานนอกระบบจะต้องได้รับการคุ้มครอง เพิ่มทักษะ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สถานศึกษา สถานประกอบการ ปรับหลักสูตรการเรียนให้สอดคล้องกับอนาคต เทคโนโลยี เน้นไปเรียนสายช่างมากขึ้น เตรียมรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เอไอ ออโตเมติก ฯลฯ

พล.ต.อ.อดุลย์ทิ้งท้ายว่า และไม่ต้องกังวลว่าเมื่อเอไอเข้ามาแล้วจะทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้น เพราะจะให้เอไอไปเสริมในส่วนของงานที่เสี่ยงต่ออันตราย งานที่ใช้สารเคมี ความร้อน เป็นต้น และคนจะต้องเข้าไปควบคุม และใช้เอไออำนวยความสะดวกในการทำงาน

สิ่งเหล่านี้คือ ทิศทางที่รัฐบาลชุดนี้อยากจะทำเพื่อผู้ใช้แรงงาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image