กทม.ยัน ‘ทางเลียบเจ้าพระยา’ ทำเพื่อทุกคน ทุกขั้นตอนศึกษาครบถ้วนแล้ว

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) จัดเวทีเสวนาสาธารณะ เรื่อง “ทางเลียบเจ้าพระยาสร้างสรรค์หรือทำลาย” โดยในการเสวนามีข้อเสนอแนะให้ กทม.และคณะ ศึกษาออกแบบทบทวนโครงการดังกล่าว รวมทั้งต้องการให้ กทม.เปิดเวทีเสวนาอีกครั้ง เพื่อหาทางออกร่วมกันก่อนที่จะดำเนินโครงการนี้ต่อไป ว่า กระทรวงมหาดไทย (มท.) และ กทม. ได้นำข้อคิดเห็นต่างๆ จากประชาชนมาเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินโครงการ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งในการศึกษาความเหมาะสมและรูปแบบของโครงการมีทั้งการลงพื้นที่ และใรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่มากกว่า 400 ครั้ง

“ผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 12 แผนงาน ประกอบด้วย 1.แผนงานทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา 2.แผนงานปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน 3.แผนงานพัฒนาท่าเรือ 4.แผนงานพัฒนาศาลาท่าน้ำ 5.แผนงานพัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ 6.แผนงานพัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ 7.แผนงานปรับปรุงพื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ 8.แผนงานพัฒนาพื้นที่ชุมชน 9.แผนงานการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน 10.แผนงานการพัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ 11. แผนงานพัฒนาจุดหมายตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา และ 12.แผนงานพัฒนาสะพานคนเดิน” นายศักดิ์ชัย กล่าวและว่า สำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 (สะพานพระราม 7 – กรมชลประทาน) โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 2 (กรมชลประทาน – คลองรอบกรุง) โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 3 (สะพานพระราม 7 – คลองบางพลัด) และโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ 4 (คลองบางพลัด – คลองบางยี่ขัน) โดยในระยะแรก มีแผนจะดำเนินโครงการ ช่วงที่ 1 และ 3 ก่อน เป็นโครงการนำร่อง รูปแบบโครงการในระยะแรก จะเป็นการก่อสร้างทางเดิน ทางจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา ความกว้างประมาณ 10 เมตร ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน ท่าเรือ ศาลาท่าน้ำ พื้นที่บริการสาธารณะ และเส้นทางการเข้าถึง ระบบไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ และส่วนประกอบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะไม่บดบังทัศนียภาพ สิ่งก่อสร้างเดิมริมน้ำ ไม่บดบังภูมิทัศน์และวัฒนธรรมริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือทุกประเภทที่ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาในการสัญจร

“ปัจจุบันโครงการช่วงที่ 1 และ 3 มีความพร้อมในการเป็นโครงการนำร่อง โดยได้รับงบประมาณ เพื่อดำเนินการก่อสร้างและได้รับอนุญาตจากกรมจ้าท่าให้ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว โดยมีเงื่อนไขให้ปรับรูปแบบอาคารศาลาท่าน้ำที่จะปลูกสร้างหน้าวัดจันทรสโมสรและวัดแก้วฟ้าจุฬามณี  ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง กทม. กรมศิลปากร และกรมเจ้าท่า เพื่อปรับปรุงรูปแบบบริเวณดังกล่าว ซึ่ง กทม. ได้มีกระบวนการดำเนินงานและศึกษาผลกระทบด้านต่าง ๆ ตลอดจนได้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขในข้อกังวลและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนอย่างครบถ้วนและรอบด้าน เพื่อให้โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแลนมาร์คใหม่แห่งเมืองหลวงที่มีความสมบูรณ์แบบ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ อนุรักษ์ สืบสาน สร้างสรรค์วัฒนธรรม รวมทั้งประวัติศาสตร์ตลอดสองฟากฝั่งแม่น้ำ ทำให้เจ้าพระยาเป็นของคนไทยทุกคน” นายศักดิ์ชัย กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image