สธ. ยันตั้ง “สถาบันพระบรมราชชนก” เป็นอุดมศึกษา

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรักษาการนายกสภาสถาบันพระบรมราชชนก ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมสภาสถาบันฯ ครั้งแรก หลังออกกฎหมายตั้งเป็นสถาบันอุดมศึกษาภายใต้สังกัด สธ.ว่า สถาบันพระบรมราชชนก เดิมเป็นสถาบันการศึกษาที่ สธ.ก่อตั้ง และอยู่ในสังกัดของสำนักงานปลัด สธ.ที่ผลิตทั้งพยาบาล และนักการสาธารณสุขหลายด้าน มีวิทยาลัยพยาบาลทั้งหมด 31 แห่ง วิทยาลัยการสาธารณสุข 9 แห่ง ล่าสุด มีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันพระบรมราชชนก พ.ศ.2562 เพื่อให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาเทียบเท่ามหาวิทยาลัย จึงต้องออกจากสังกัดสำนักงานปลัดสธ.ไปเป็นนิติบุคคล ซึ่งจะเป็นกรมหนึ่งที่ดูแลการศึกษาทั้งหมด

ผู้สื่อข่าวถามถึงการสรรหานายกสภาสถาบันฯ และอธิการบดี นพ.สุขุม กล่าวว่า ตามบทเฉพาะกาลของกฎหมาย กำหนดให้ปลัด สธ.รักษาการนายกสภาสถาบันฯ รองปลัด สธ.เป็นอุปนายกสภาฯ ในช่วงระยะเวลา 180 วัน และผู้อำนวยการสถาบันพระบรมราชชนก เป็นรักษาการอธิการบดี ขณะนี้อยู่ระหว่างทำกฎกระทรวงและระเบียบต่างๆ ออกมารองรับ เพื่อให้ดำเนินการได้ ทั้งระเบียบการสรรหานายกสภา การตั้งคณะกรรมการถ่ายโอนทรัพย์สิน บทบาทหน้าที่ ระเบียบการเงินการคลัง ระเบียบเรื่องของสภาวิชาการ ระเบียบเรื่องของการพัฒนาบุคลากรต่างๆ ฉะนั้น บุคลากรที่เดิมเป็นข้าราชการ สธ. ก็จะเปลี่ยนรูปไปเป็นพนักงานของข้าราชการครู เนื่องจากเป็นบทบาทของอาจารย์

เมื่อถามว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงของทีแคท (TCAS62) การเปลี่ยนผ่านจะส่งผลต่อการรับนักศึกษาหรือไม่ นพ.สุขุม กล่าวว่า ไม่มีผลกระทบใดๆ ยังคงดำเนินงานต่อเนื่องได้ ผู้อำนวยการวิทยาลัยทุกแห่งก็ยังทำงานได้ต่อ แต่การรับนักศึกษาจะดีขึ้น เพราะอนาคตก็จะมีการปรับเปลี่ยน จากเดิมรับใบประกาศนียบัตรที่เทียบเท่าปริญญา ก็จะได้เป็นปริญญาโดยสมบูรณ์ และจะมีการพัฒนาทั้งระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาตรี และหลังปริญญาตรีหรือการศึกษาระดับสูงต่อไปด้วย

Advertisement

เมื่อถามอีกว่า จากนี้ต้องตั้งสำนักงานอธิการขึ้นใหม่หรือไม่ รวมถึงการเรียนการสอนของวิทยาลัยต่างๆ ที่ยังผูกติดกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ นพ.สุขุม กล่าวว่า มีแนวคิดว่าจะดำเนินการเป็นแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้น หรือช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ จะไม่ให้มีการกระทบต่อการเรียนการสอน และการพัฒนาบุคลากร ระยะแรกยังคงให้ใช้สถานที่เดิม คือ สำนักงานอธิการบดีก็จะยังอยู่ใน สป.สธ. เหมือนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สมัยก่อน ที่อยู่ในตึก สป.สธ. ส่วนสถานที่เรียนในช่วงเปลี่ยนผ่านก็ยังคงเหมือนเดิม แต่ในระยะยาวก็ต้องมีการพัฒนา โดยสภาวิชาการจะกลั่นกรองเรื่องนี้ ส่วนระยะกลาง จะมีการหาพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน เช่น การทำเป็นแคมปัส หรือเป็น อะคาเดมิก คอมเพล็กซ์ (Academic Complex) ขึ้นมา เพื่อให้การเรียนรู้ครบทุกมิติ ตั้งแต่ปี 1-4 ในการดูแลผู้ป่วย มีความรู้ความสามารถครบถ้วน และพัฒนาทักษะในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งบางครั้งจะเห็นว่า เราให้เน้นวิชาการโดยไม่มีการฝึกปฏิบัติ ก็จะทำให้น้องๆ ที่เป็นบุคลากรไม่สามารถออกไปทำงานได้ ระยะกลางจึงอาจต้องพิจารณาหาแคมปัสที่เหมาะสม ซึ่งก็มีการเล็งหาพื้นที่หลายแห่ง เช่น หน่วยงานราชการด้วยกัน อาจเป็นของกรมสุขภาพจิต หรือที่ดินของราชพัสดุ หรือกรมธนารักษ์ หรือหาผู้บริจาค เพื่อจะได้สร้างให้เป็นแคมปัสที่สมบูรณ์

เมื่อถามถึงการรับจำนวนนักศึกษา ที่ต้องสัมพันธ์กับการจ้างงาน และตำแหน่งของ สธ.อาจไม่เพียงพอ นพ.สุขุม กล่าวว่า เรื่องของการผลิตบุคลากรต้องดูว่าบริบทเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ ซึ่งเมื่อก่อนเน้นเรื่องสุขาภิบาล ส้วม ต่อมาดูเรื่องโรคติดเชื้อ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปัจจุบันเน้นเรื่องสังคมผู้สูงอายุ การเยี่ยมบ้าน การปรับผู้ป่วยจากผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงมาเป็นติดสังคม บทบาทบุคลากร สธ.ก็จะมีการปรับเปลี่ยนไป การผลิตต้องดูบริบทเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ภาระงานเป็นอย่างไร และตำแหน่งของบุคลากร สธ.ก็มีหลายรูปแบบในอนาคต เช่น ข้าราชการแบบปัจจุบันนี้ หรืออาจมีข้าราชการรูปแบบใหม่ เช่น ข้าราชการสาธารณสุข แบบข้าราชการครู หรือข้าราชการศาลอัยการ ก็เป็นสิ่งที่มองในอนาคต แต่ทุกวันนี้เรามีการปฏิรูปที่เรียกว่า เอชอาร์ พัฒนาบุคลากรทุกมิติ ตั้งแต่การรับเข้ามาเป็นอย่างไร ผลิตอย่างไร เข้ามามีขวัญกำลังใจอย่างไร ไม่ใช่เป็นข้าราชการหรือตำแหน่งอย่าเงดียว ต้องดูเรื่องความปลอดภัย ค่าตอบแทนด้วย ก็จะหาหลายๆ รูปแบบเข้ามาดู

ด้าน นพ.สมชาย ธรรมสารโสภณ รักษาการอธิการบดีสถาบันฯ กล่าวว่า บุคลากรที่เทียบโอนไปใช้ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จะมีข้อดี คือ สามารถขึ้นตำแหน่งทางวิชาการได้ ทั้งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ สำหรับการเรียนการสอนจะยึดตามปณิธานของสถาบัน คือ ปัญญาชุมชนเพื่อชุมชน เพราะระบบสุขภาพต่างๆ จะดีได้ ต้องเริ่มมากจากที่ชุมชนด้วย ในการลงไปดูแลถึงระดับชุมชน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image