‘ลูกจ้าง’ จี้รัฐดูแลความปลอดภัยในการทำงาน ยกเลิกนโยบาย ‘ซีโร่ เอ็กซิเด้นท์’

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เครือข่ายแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานนอกระบบในระบบ ชุมชน ภาคเกษตร จัดงานวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย โดยเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการให้สอดคล้องตามหลักอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบเชิงส่งเสริมการดำเนินงานความปลอดภัยและอาชีวอนามัย ค.ศ.2006 เน้นที่ระบบรองรับและการส่งเสริมป้องกันที่ตัวคน และส่งเสริมกลไกสำคัญที่จะทำให้คนทำงานทุกภาคส่วนมีสุขภาพดี มีความปลอดภัยอย่างถ้วนหน้า

สำหรับข้อเรียกร้อง มี 16 ข้อ 1.ขอให้ผู้เจ็บป่วยหรือผู้เจ็บป่วยจากการทำงานสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา 2.การประเมินการสูญเสียสิ้นสุดการรักษาต้องให้คนงานรักษาจนถึงที่สุดจนหายดีและเงินประเมินต้องทดแทนให้คนงานอยู่ได้อย่างไม่ลำบาก 3.ขอให้ คสรท.เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการแพทย์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยและชีวอนามัย 4.ขอให้รัฐจัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยฯ เช่น วันแรงงานแห่งชาติ 5.ขอให้รัฐยกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกรูปแบบ เพราะถึงจะประกาศ ลดความเข้มข้นในชั้นบรรยากาศเป็น 0.1 เส้นใยต่อ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร แต่ระบบตรวจสอบก็ยังไม่สามารถรองรับได้จริง 6.ขอให้รัฐจัดสรรงบให้สถาบันส่งเสริมให้เพียงพอต่อการทำงาน 7.ขอให้รัฐเพิ่มการตรวจสุขภาพประจำปี แบบอาชีวเวชศาสตร์ทุกคน และต้องส่งสมุดพกประจำตัวการตรวจสุขภาพให้ลูกจ้างทุกคน 8.ขอให้รัฐตรวจสอบสถานประกอบการให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยทุกแห่ง

9.ขอให้คลินิกโรคจากการทำงาน เร่งวินิจฉัยโรคจากการทำงาน ทุกพื้นที่อุตสาหกรรม และยกระดับคลินิกโรคฯ อยู่ในระดับที่ได้มาตรฐานเดียวกัน และสนับสนุนให้วินิจฉัยโรคมะเร็งจากแร่ใยหิน สนับสนุนงบ และมีการประชาสัมพันธ์ให้มากกว่านี้ 10.ขอให้มีแพทย์ทางด้านอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมประจำทุกโรงพยาบาล และขอให้มีโรงพยาบาลในประกันสังคมจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับแรงงาน 11.ทบทวนยกเลิกนโยบายซีโร่เอ็กซิเด้นท์ (Zero accident) 12.การบริการเรื่องความปลอดภัยให้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน เช่น ภาคเกษตร ภาคบริการ ฯลฯ 13.จัดตั้งกองทุนพิทักษ์สิทธิแรงงาน เพื่อสนับสนุนแรงงานในการต่อสู้คดี หรือกองทุนเพื่อสุขภาพความปลอดภัยของชุมชนภาคเกษตร 14.เข้าถึงระบบสาธารณสุข การแพทย์ทางเลือก 15.ตั้งกองทุนเพื่อสุขภาพความปลอดภัยของภาคเกษตรภาคบริการ และ 16.รัฐต้องมีมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image