ตะลึง! ผู้หญิง “ดื่มแล้วขับ” เพิ่มขึ้น สธ.เล็งหาวิธีสกัด

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2562 สธ.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและลดการบาดเจ็บจากการจราจร ด้วยมาตรการทั้งทางกฎหมายและทางสังคม ชุมชน และออกปฏิบัติการช่วยเหลือ ดูแลรักษาผู้บาดเจ็บ ณ จุดเกิดเหตุ นำส่งรักษาที่โรงพยาบาล จากการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2562 พบว่า เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จำนวน 3,368 ครั้ง ลดลงจากปีที่ผ่านมา 386 ครั้ง เนื่องจากประชาชนบางส่วนเลือกเดินทางในวันหยุดก่อนหน้าช่วงวันสงกรานต์ จึงทำให้อัตราการเดินทางบนท้องถนนลดลงจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 3.38 สำหรับยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ รถจักรยานยนต์ร้อยละ 79.15 เกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงร้อยละ 42.24 จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 136 ราย เชียงใหม่ 126 ราย และ ร้อยเอ็ด 99 ราย

นพ.สุขุม กล่าวต่อไปว่า ผลการตรวจระดับปริมาณแอลกอฮอล์ ในรอบ 7 วัน มีผู้ขับขี่ที่ถูกส่งตรวจจากเลือด 1,917 ราย ตรวจทางลมหายใจ 3,142 ราย ในจำนวนนี้มีปริมาณเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ร้อยละ 47.89 และในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี พบปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดร้อยละ 40.57 ผลการสุ่มตรวจสถานประกอบการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 รวม 1,487 ครั้ง พบการกระทำความผิดสูงสุด 3 อันดับแรก คือ 1.ขายนอกเวลา 2.โฆษณา 3.จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย

“เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก พบว่ามีรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นผู้หญิงดื่มแล้วขับเพิ่มมากขึ้น และยังพบในเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี อีกจำนวนหนึ่งด้วย ทั้งๆ ที่มีเรามีกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะนำข้อมูลนี้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการลดจำนวนผู้ดื่มแล้วขับให้ได้มากที่สุด” นพ.สุขุม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image