สธ.เคาะสูตร ‘น้ำมันกัญชา’ อ.เดชา สัปดาห์หน้า ชี้หากเข้าเกณฑ์ยาพื้นบ้านก็จ่ายให้คนไข้เฉพาะในพื้นที่ได้

หลังจากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แถลงความคืบหน้าการผลิตน้ำมันกัญชาระดับเมดิคัล เกรด เพื่อใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งล็อตแรกขวดละ 5 ซีซี จำนวน 2,500 ขวด ตั้งเป้าจะแจกให้ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งใช้ใน 4 กลุ่มโรคทดลองภายในเดือนกรกฎาคมนี้นั้น

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการเลื่อนการประชุมคณะกรรมการพิจารณารับรองตำรับยาหมอพื้นบ้าน ซึ่งมีวาระการพิจารณาน้ำมันกัญชาของนายเดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่า สาเหตุที่ต้องเลื่อนการพิจารณา เนื่องจากคณะกรรมการฯ 20 คน เข้าร่วมไม่ครบองค์ประชุม บางส่วนติดภารกิจทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศ

“ในการพิจารณาตำรับยาหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย จะต้องมีกรรมการเกินครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการฯ ทั้งหมด ขณะนี้ อยู่ระหว่างการกำหนดวันประชุมใหม่ และนัดหมายอีกครั้ง คาดเป็นสัปดาห์หน้า ซึ่งการประชุมในวาระนี้ มีตำรับยาหมอพื้นบ้านส่งเข้ามาให้พิจารณาความถูกต้องทางวิชาการ และความปลอดภัยของคนไข้ที่จะรับยาตำรับดังกล่าว ว่า เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมหรือไม่ประมาณกว่า 50 ตำรับ โดยมีทั้งยาต้ม ยาเม็ด ยาลูกกลอน ยาแคปซูล ยาน้ำมัน หนึ่งในตำรับที่เสนอเข้ามาให้พิจารณานั้น มีน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา ด้วย” นพ.ขวัญชัย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากผลการพิจารณาน้ำมันกัญชาสูตร อ.เดชา พิสูจน์ได้ว่าเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า หากพิจารณาเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมจะเป็นตำรับยาหมอพื้นบ้านตามกฎหมาย ก็จะอนุญาตให้หมอพื้นบ้านปรุงยาสำหรับจ่ายให้คนไข้เฉพาะรายได้ ดังนั้น นายเดชาซึ่งเป็นหมอพื้นบ้านจะสามารถสั่งจ่ายน้ำมันกัญชาสูตรนี้ให้แก่ผู้ป่วยในบ้าน หรือในพื้นที่ ในชุมชนของตัวเองได้

Advertisement

“เป็นลักษณะการใช้ตามพื้นบ้าน ไม่ได้ใช้โดยทั่วไป แต่หากต้องการให้ผู้ป่วยเข้าถึงมากขึ้นหรือขยายผลจ่ายให้คนไข้ในพื้นที่อื่น อาจจะให้หมอพื้นบ้านใน จ.พิจิตร เป็นเครือข่ายในการใช้ตำรับยานี้ เพราะที่ผ่านมา มีการไปแจกน้ำมันกัญชาสูตรนี้ที่วัดใน จ.พิจิตร อาจใช้วิธีนี้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงได้” นพ.ขวัญชัย กล่าว

เมื่อถามอีกว่า หากพิจารณาน้ำมันกัญชาของ อ.เดชา เป็นสูตรดั้งเดิมตามตามกฎหมายแล้ว จะนำสูตรดังกล่าวเข้าเป็นตำรับยาที่มีกัญชาผสมเป็นตำรับที่ 17 ตามกฎหมายได้หรือไม่ นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า แม้จะเป็นตำรับยาหมอพื้นบ้าน แต่ไม่ได้แปลว่าจะเข้าสู่การเป็นตำรับยาที่ 17 ตามกฎหมาย ตรงนี้ถือเป็นคนละส่วน การจะเข้าสู่ตำรับยาที่ 17 ได้นั้น จะต้องมีผลการวิจัยที่ชัดเจนก่อนว่า มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลอย่างไร รักษาโรคใดได้บ้าง สรรพคุณเชื่อถือได้ มีความปลอดภัยหรือไม่ อย่างไร ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการวิจัยที่ทำร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยหากมีผลที่ชัดเจนแล้วก็สามารถเสนอคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดพิจารณาประกาศเป็นตำรับที่ 17 ได้ ก็จะช่วยให้แพทย์แผนไทยสามารถจ่ายได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image