บุคลากรการแพทย์แห่อบรม ‘กัญชา’ เต็มทุกรุ่น จ่อเปิดอีก 3 หลักสูตรพิเศษ

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการอบรมการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์สำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ รุ่นที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม โดยมีแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ เภสัชกร หมอพื้นบ้านเข้าร่วมอบรม จำนวน 300 คน

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการจัดอบการใช้สารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์สำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ รุ่นที่ 2 โดยในที่ประชุมคณะกรรมการหลักสูตรมีมติให้ปรับสูตรเพิ่มเติม โดยให้วิทยากรบรรยายถึงปริมาณการใช้สารสกัดจากกัญชาในแต่ละกลุ่มโรคให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น ลมชักในเด็กต้องให้บุคลากรแพทย์ทราบขนาดยาที่ต้องใช้ให้ชัดเจน รวมถึงการเฝ้าระวังและติดตามอาการข้างเคียง เป็นต้น

“ซึ่งภายหลังการอบรมทุกรุ่น คณะกรรมการพิจารณาและรับรองหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์ จะมีการติดตามผลการอบรม พร้อมรับฟังความเห็นจากผู้เข้าอบรม โดยเบื้องต้นรุ่นที่ผ่านมาอยากให้ปรับเวลาบรรยายในส่วนเนื้อหาของปลูกกัญชาน้อยลง ซึ่งรุ่นต่อไปจะมีการปรับเวลาอบรมในหัวข้อดังกล่าว สำหรับรุ่นที่ 2 พบผลตอบรับเกินความคาดหาย โดยพบว่ามีผู้เข้ามาลงทะเบียนเต็มจำนวนภายในเวลาเพียง 30 นาที ส่วนอีก 4 รุ่น ที่เหลือ ล่าสุด ยังได้รับรายงานว่ามีผู้ลงทะเบียนจนเต็มจำนวนทั้งหมดแล้ว” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว

Advertisement

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ กรมการแพทย์จะเสนอไปยัง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ. ในการเปิดหลักสูตรอบรมเป็นกรณีพิเศษให้แก่บุคลากรสำนักงานปลัด สธ. แบ่งเป็น รุ่นที่ 1 หลักสูตรอบรมสำหรับแพทย์ เภสัชกร ของโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง จำนวน 250 คน รุ่นที่ 2 หลักสูตรอบรมสำหรับทีมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือระยะประคับประคอง (Palliative Care) ซึ่งมีอยู่ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ และมีการทำงานกันอย่างเป็นเครือข่าย ระหว่างวันที่ 30-31 กรกฎาคม จำนวน 180 คน โดยการอบรมทั้ง 2 รุ่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์กรเภสัชกรรม (อภ.) จะเป็นผู้สนับสนุนในการจัดการอบรม และรุ่นที่ 3 หลักสูตรอบรมสำหรับผู้บริหารโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ซึ่งจะเป็นการอบรมในเชิงบริหาร อยู่ระหว่างการกำหนดวันเวลาที่ชัดเจน โดยการจัดอบรมทั้งหมดเพื่อให้ครอบคลุมทั้งระดับผู้บริหารและระดับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งคาดว่าผู้ที่ผ่านการอบรมจะเพียงพอและครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้มีการหลักสูตรอบรมผ่านระบบออนไลน์อีกด้วย

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า กรมการแพทย์ยังได้พยายามเน้นย้ำกับผู้เข้ารับการอบรม โดยจะพยายามจัดทำโมเดลในการพัฒนา เช่น สารสกัดกัญชาที่มีประโยชน์ใช้กับลมชักควรจะใช้อย่างไร หากโรงพยาบาลจะมีคลินิกใช้รักษาลมชักในเด็กบางชนิดจะต้องจัดคลินิกอย่างไร

“ย้ำว่าสารสกัดกัญชาไม่ใช่ทางเลือกแรกในการรักษา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจัดรูปแบบคลินิกในสถาบันประสาท กรมการแพทย์ เช่นเดียวกับสถาบันมะเร็ง ที่อยู่ระหว่างการเตรียมโครงร่างเพื่อศึกษาวิจัยในการนำสารสกัดกัญชามาใช้กับผู้ป่วยอาเจียน คลื่นไส้ จากอาการมะเร็งและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้แล้ว รวมถึงสถาบันผิวหนัง โรงเรียนแพทย์ สถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลเอกชน กรมการแพทย์ยินดีศึกษาวิจัยร่วมกัน” นพ.สมศักดิ์กล่าว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image