เล่าเรื่องเศร้า ในวันเต่าโลก

เล่าเรื่องเศร้า ในวันเต่าโลก

“หลายๆครั้งที่ออกสำรวจพื้นที่ ผมชอบออกไปยืนตรงหัวเรือ ซึ่งพอห่างฝั่งออกไป สิ่งที่เจอบ่อยครั้งมากคือแพขยะทะเล ผมก็จะบอกให้คนขับเรือเบนหัวเรือเข้าไปใกล้ๆ แล้วก็จะเจอกับสิ่งที่คาดการณ์เอาไว้ทุกครั้ง”

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว ระหว่างสนทนาว่าด้วย หัวข้อ วันเต่าโลก

อ.ธรณ์ เล่า ต่อว่า ภาพที่เห็นตรงหน้าคือ เต่าตัวหนึ่งกำลังกระเสือกกระสนออกจากแพขยะที่มันติดอยู่ ซึ่งไม่รู้ว่าติดมานานแค่ไหนแล้ว

Advertisement

“ผมแทบจะร้องไห้ทุกครั้ง เวลาที่ต้องไปช่วยเต่าที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ พูดได้เลยทุกตัวไม่เคยอยู่ในสภาพเต่าที่ปกติสุขอีกแล้ว บางตัวขาเปื่อยหลุดขาดวิ่น บางตัวตาหลุด กระดองหลุด ยกขึ้นมาดู เคยเห็นเต่าผอมไหม เต่าผอม แสดงว่ามันติดอยู่มานานมาก”

รองคณบดีคณะประมง กล่าวว่า เส้นทางและวิบากกรรมที่นำพาให้เต่าทะเลมาติดอยู่กับแพขยะเหล่านี้ เริ่มต้นมาจาก คนทิ้งขยะลงไปในน้ำ จากแม่น้ำไหลลงมาทะเล ขยะจาก 1 ชิ้น 2 ชิ้น รวมกันเป็นกอง รวมกันเป็น ไหลลอยเท้งเต้งเป็นแพขยะในทะเล มีปลาเล็กปลาน้อยว่าย้ำเข้ามาหาอาหารในแพขยะนั้น เต่าก็ว่ายตามจะมากินปลา

Advertisement

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

“ระหว่างว่ายมันไม่ได้คิดอะไรทั้งสิ้น ขอให้ได้กินอย่างเดียว บางตัวนอกจากไม่ได้กินปลาแล้ว ตัวยังติดกับขยะอีก ดิ้นไม่หลุด ไปไหนก็ไม่ได้บางทีขยะคม ดิ้นไปดิ้นมาก็บาดกินเนื้อเข้าไป แต่มันไม่ตาย เพราะไม่ได้จมน้ำ ได้แต่ลอยไปเรื่อยๆตามคลื่นลมที่พัดแพขยะกองนั้น เป็นวัน เป็น สิบวัน เป็นเดือน ถูกแดดเผา ร้อน หิว ทรมาน เหมือนเต่าตกนรกทั้งเป็น ถ้ามันตายก็ตายไป แต่นี่ไม่ตาย คิดดูว่าจะมีความใกล้ตายที่ไหน จะทรมานเท่ากับเต่าที่ติดอยู่กับแพขยะกลางทะเล”ผศ.ธรณ์ กล่าว

ผศ.ธรณ์ กล่าวว่า ปัญหาหลักๆที่คร่าชีวิตเต่าทะเล ในประเทศไทยคือ ติดแพขยะทะเล ติดเครื่องมือประมง ชายหาดถูกบุกบุก รังที่วางไข่ถูกขโมย แต่เรื่องขโมยไข่เต่าจากชายหาดทุกวันนี้เบาบางลงมาก เพราะมีการตั้งกองทุนอนุรักษ์เต่าทะเลขึ้นมา ชาวบ้านที่ร่วมอนุรักษ์ไข่เต่าจะมีรายได้มากกว่าการขุดไข่เต่าเอาไปขาย แต่ปัญหาหลักและหนักที่สุดคือ ขยะพลาสติกในทะเล ที่ทำให้เต่าตาย บาดเจ็บ และพิการ สถิติล่าสุดนั้นมีเต่าทะเลเกยตื้นปีละประมาณ 300 ตัว ในจำนวนนี้มีทั้งตาย และได้รับบาดเจ็บ และประมาณ 120 ตัว ถูกกระทำโดยขยะทะเล ทั้งภายใน และภายนอก ภายในคือกินเข้าไปและมีปัญหากับระบบทางเดินอาหาร ส่วนภายนอกก็คือ โดนเชือก โดนถุงพลาสติก รัดคอ รัดขา รัดตามตัว จากสถิติที่ตามเก็บมานั้นเฉลี่ยได้ว่า ใน 3 วัน จะพบเต่าที่เกยตื้นเพราะขยะทะเล 1 ตัว

“พวกที่ตายก็ตายไป ส่วนพวกที่บาดเจ็บมาหมอเราเก่งช่วยได้เกือบทั้งหมด แต่ทั้งหมดที่ช่วยได้จะกลายเป็นเต่าพิการ คือไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบปกติในทะเลได้อีกต่อไป ที่เล่ามาทั้งหมดไม่มีเรื่องไหนเกินจริงเลย แต่อยากจะบอกกับทุกคนว่าอย่าทิ้งขยะลงน้ำ อย่าทำให้ทะเลมีขยะ มิฉะนั้น เต่าทะเล และสัตว์น้ำตัวอื่นๆก็จะได้รับเคราะห์เช่นนี้” รองคณบดีคณะประมง กล่าว

จตุพร บุรุษพัฒน์

 

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า ยอมรับว่าที่ผ่านมาสัตว์ทะเลหายากจำนวนมาก โดยเฉพาะเต่าทะเลตาย พิการ และได้รับบาดเจ็บจากขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเล ซึ่งขณะนี้ ทช.พยายามแก้ปัญหา หาทางป้องกัน และร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันรณรงค์ในเรื่องนี้ ก็ถือว่าได้ผลในระดับหนึ่ง คือ ทำให้คนเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าร้ายแรงและน่าเศร้าใจแค่ไหน

“แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังมีเรื่องดีๆเกี่ยวกับเต่าทะเลที่เกิดขึ้นในปีนี้ คือ มีเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี โดยเราสามารถทำให้ชายหาดที่เต่าเคยมาวางไข่มีคุณภาพทางสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความหลากหลายทางชีวภาพที่เอื้ออำนวยให้เต่ามาวางไข่ ตลอดจนมีระบบเครืข่ายการเฝ้าระวัง ที่ได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่ สามารถเพิ่มปริมาณลูกเต่า ที่จะออกไปเผชิญชีวิตในทะเลได้ ส่วนลูกเต่าพวกนี้จะมีชีวิตรอดได้มากแค่ไหนก็เป็นอีกขั้น ที่พวกเราก็ต้องทำงานหนักเช่นกัน เรื่องของขยะทะเลที่ต้องต้องกำจัด และหาทางป้องกันไม่ให้มีเพิ่มไปกว่านี้”อธิบดีทช.กล่าว

หากจะทิ้งขยะ ลงน้ำ ลงทะเลครั้งใด ให้นึกถึงความตายที่แสนทรมานของเต่าพวกนี้

ไม่มีความตายใดจะทรมานเท่าเต่า ติดอยู่กับแพขยะในทะเล..

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image