ทช.เผยสถานการณ์ ‘ปะการังฟอกขาว’ ปี 62 เริ่มคลี่คลายลงแล้ว

ทช.เผยสถานการณ์ ‘ปะการังฟอกขาว’ ปี 62 เริ่มคลี่คลายลงแล้ว

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทช.ได้ทำการติดตามสถานการณ์ความรุนแรงของปะการังฟอกขาวร่วมกับเครือข่ายทั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัย และนักดำน้ำอาสาสมัคร จำนวน 123 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน 51 และพื้นที่ฝั่งอาวไทย 72 พื้นที่ ในขณะนี้พบว่า สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในพื้นที่ส่วนใหญ่เริ่มคลี่คลายลงแล้ว เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลงอย่างต่อเนื่อง และปะการังส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบเริ่มฟื้นตัว (ปะการังยังมีสีซีด) มีเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้นที่ปะการังฟอกขาวยังอยู่ในระดับที่สูง

“สำหรับรายละเอียดฝั่งทะเลอันดามัน ปะการังส่วนใหญ่ยังคงมีสีซีดจางและกำลังฟื้นตัว ยกเว้นแนวปะการังชายฝั่งที่พบว่ามีปะการังฟอกขาวมากขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง (ปะการังฟอกขาวไม่เกินร้อยละ 25 ของปะการังที่มีชีวิต) เนื่องจากได้รับอิทธิพลของน้ำจืดจากปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น อุณหภูมิน้ำทะเลโดยเฉลี่ยลดลงจาก 31.29 องศาเซลเซียส ในเดือนเมษายน เป็น 30.3 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2562 ในขณะที่แนวปะการังส่วนใหญ่ฝั่งทะเลอ่าวไทยยังมีการฟอกขาวแต่อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง พบปะการังฟอกขาวไม่เกินร้อยละ 25 ของปะการังที่มีชีวิต สรุปโดยรวมทั้งประเทศมีเพียง 6 พื้นที่ (5%) ที่แนวปะการังยังมีการฟอกขาวอยู่ในระดับที่สูง อย่างไรก็ตามกรม ทช. ยังคงมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป”

Advertisement

 

นายจตุพรกล่าวว่า สภาวะที่ปะการังเกิดการฟอกขาวเป็นช่วงที่กำลังอ่อนแอลง ดังนั้น กรมฯจึงขอความร่วมมือจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องโปรดระมัดระวังเป็นพิเศษในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ บริเวณแนวปะการังที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบเพิ่มขึ้นกับปะการัง ได้แก่ งดการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูล หลีกเลี่ยงการจับต้องหรือสัมผัสปะการัง หรือยืนบนปะการัง เป็นต้น อีกทั้ง ควรร่วมมือกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

Advertisement

ทั้งนี้ ปะการังฟอกขาวเป็นปรากฏการณ์ที่ตัวปะการังขับเอาสาหร่ายซูแซนเทลลี่ออกจากเซลล์ เนื่องจากตัวปะการังเกิดความเครียดสะสมจากสภาวะที่อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกิน 30.5°C ในภาวะเช่นนี้ตัวปะการังจะอ่อนแอลง ซึ่งหากอยู่ในสภาพนี้นานๆ เกิน 3 อาทิตย์ ปะการังก็จะฟอกขาวและตายได้ในที่สุด แต่หากสภาพแวดล้อมกลับมาเป็นปกติในเวลาไม่นานนัก สาหร่ายก็จะกลับเข้ามาอยู่ร่วมกับปะการังเช่นเคย และปะการังก็กลับมามีชีวิตอยู่ได้เหมือนเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image