‘หมอธีระวัฒน์’ เตือนอันตรายกัญชา แนะระวังใช้เกินขนาด ดันปลดล็อกกัญชง

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ป่วย หรือประชาชนหาซื้อสารสกัดจากกัญชามาใช้เองนั้น อาจต้องหลีกเลี่ยง โดยก่อนอื่นประชาชนต้องทราบว่ากัญชาเป็นยา ทว่าใช้มากเกินขนาด ใช้ผิด ไม่ทราบข้อจำกัด แทนที่กัญชาจะเกิดประโยชน์อาจเกิดผลร้ายและอันตรายอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะการนำมาใช้โดยที่ผู้นั้นไม่ได้เจ็บป่วย หรือใช้เพื่อสันทนาการ ไม่ส่งเสริมให้ใช้เด็ดขาด ส่วนผู้ที่นำมาใช้เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย ผู้ที่จะเริ่มใช้หรือผู้ที่ใช้ต้องทำความเข้าใจว่าตนเองมีความเหมาะสมหรือไม่ โดย 1.กรณีผู้ที่มีข้อจำกัดโรคจิต มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคจิต ถ้าจะใช้จะต้องเลือกชนิดที่ไม่มีสารกระตุ้นทางจิตประสาท เพราะกัญชาจะกระตุ้นอาการดังกล่าว  และ2.กรณีสตรีที่กำลังตั้งครรภ์และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี อาจทำให้ติดง่ายในคนที่มีอาการเปราะปราง นำไปสู่อาการโรคจิต หากเป็นเด็กจะทำให้สติปัญญาเสื่อมถอย ยกเว้นการใช้ทางการแพทย์ในปริมาณและชนิดที่เหมาะสมกับโรค

นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ดังนั้น การใช้สารสกัดจากกัญชาจะต้องใช้ทางการแพทย์เท่านั้น โดยวิธีการใช้จะต้องเลือกใช้ชนิดที่มีสารออกฤทธิ์จำเพาะโรค ซึ่งต้องเริ่มจากการใช้จากปริมาณหรือขนาดน้อยมาก ก่อนเพิ่มขนาดตามความเหมาะสม ไม่ใช่การใช้ตามข่าวที่มีการหยดใต้ลิ้น 40 หยด ซึ่งการใช้จะต่างจากการใช้สูบเพื่อสันทนาการหรือเพื่อความสนุก ที่จะเริ่มจากการใช้ในปริมาณสูง เพราะมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่จะใช้ทางการแพทย์ ในผู้ป่วยบางรายอาจทราบหรือไม่ทราบว่าตนเองมีโรคตับ ไต เส้นเลือดสมองตีบ เส้นเลือดหัวใจตีบ และใช้ยาแผนปัจจุบันรักษาอยู่แล้ว หากใช้สารสกัดจากกัญชาอาจจะทำให้เกิดความดันตก ระดับน้ำตาลต่ำ ทำให้ยาที่ใช้อยู่ออกฤทธิ์มากขึ้น อาจเกิดอาการหัวใจวาย หรืออัมพฤกษ์ได้ กรณีผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับ ปกติจะได้ยานอนหลับอยู่แล้ว เมื่อได้รับกัญชาจะไปเสริมฤทธิ์กับยาที่ใช่อยู่ จะทำให้หลับรุนแรง ปลุกไม่ตื่น ส่วนกรณียาต้านซึมเศร้าจะเพิ่มสารเคมีในสมองซีโรโทนิน ทำให้เกิดอาการทางสมอง เช่น อาการกระวนกระวาย สับสน นำไปสู่อาการชัก ไม่รู้สึกตัว ซึม หรือความดันและชีพจรผิดปกติ หรือมีกล้ามเนื้อแหลกสลาย ภาวะไข้สูงไม่ทราบสาเหตุ

“โดยอาการดังกล่าวอาจปรากฎอาการเดียว หรือเกิดขึ้นพร้อมกัน ผลข้างเคียงดังกล่าวพบได้ทั่วไป ไม่เพียงแต่ใช้กัญชากับยาต้านซึมเศร้า แต่รวมถึงการใช้ยาแก้ปวดทรามาดอลร่วมกับยาต้านซึมเศร้า ยาแผนปัจจุบันกับยาต้านซึมเศร้าก็เกิดอาการดังกล่าวขึ้นได้ นอกจากนี้ เมื่อใช้กัญชากับผู้ป่วยที่มียาสลายลิ่มเลือดอาจทำให้ยาออกฤทธิ์มากขึ้น โดยจะมีอาการตกเลือดง่าย เลือดไหลไม่หยุด เช่น มีเลือดออกในกระเพราะ หรือในสมองมากขึ้น รวมถึงการใช้กัญชากับยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัสเอดส์ ยาอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง แต่ขอย้ำว่ากัญชามีประโยชน์ หากใช้อย่างถูกต้อง เช่น การปรับยาใช้กับยาแผนปัจจุบัน อาจเป็นการเติมเต็ม เพื่อให้ได้ประโยชน์จากกัญชามากที่สุด ยอมรับว่ายาแผนปัจจุบันไม่ได้ช่วยรักษาได้ทุกโรค” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าผู้ป่วยที่ใช้ยาอย่างถูกต้องในปริมาณและชนิดที่เหมาะสมกับโรค เช่น การหยดใต้ลิ้น แน่นอนว่าเบื้องต้นจะเกิดอาการเมา เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ ความดันตก วิธีบรรเทาอาการเมาเบื้องต้นให้ดื่มน้ำเยอะๆ นอนพักสักระยะ จะช่วยบรรเทาอาการเมาได้ระดับหนึ่ง แต่หากพบอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที

นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวถึงสาเหตุที่มีผู้ทดลองใช้สารสกัดจากกัญชามากขึ้น ว่า เนื่องจากผู้ป่วยบางรายมีความจำเป็นต้องหาสารสกัดระหว่างที่สารสกัดจากทางการ ตราบใดที่ของทางการที่จะเอามาใช้กับประชาชนไม่เพียงพอ เราจะประสบปัญหาเช่นนี้เรื่อยๆ เช่นเดียวกับแพทย์และเภสัชกร หากไม่รู้ข้อจำกัดในการใช้ปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังเสนอให้ทางการปลดล็อกกัญชงให้ได้รับอนุญาตในการใช้ทางการแพทย์เช่นเดียวกับกัญชา เพราะกัญชงมีสารที่ไม่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท จะช่วยรักษาโรคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“หากมัวเมาไม่ปลดล็อกกัญชง ประเทศจะอาจต้องนำเข้าสารชนิดที่มีอยู่ในกัญชง นั่นอาจเป็นความโง่เขลาของประเทศ ส่วนพืชกระท่อม เสนอให้ใช้ภายใต้การควบคุม เนื่องจากกระท่อมเป็นพืชทรหด โดยการควบคุมการใช้ได้ในปริมาณที่เหมาะสม ดังนั้น เมื่อรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ก็ขอให้เลือกประโยชน์มาใช้ให้ได้มากที่สุดเช่นเดียวกับกัญชา” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image