รมว.สธ.สั่งสอบ ‘รพ.หนองฉาง’ จ่าย ‘ยากัญชา’ ให้ผู้ป่วย ยันไม่ได้กลั่นแกล้งใคร

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงกรณีผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) หนองฉาง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี และแพทย์ได้สั่งจ่ายยากัญชา สารสกัดน้ำมันกัญชา รักษาโรคให้ผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างการติดตามกรณีดังกล่าว ยืนยันไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งตามข้อสังเกตของหลายคน

“ใครจะพูดอย่างไร ก็เรื่องของเขา ขอให้ดูผลที่ทาง สธ.ได้ดำเนินการ ซึ่งในอนาคตจะมีการอบรมบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มเติมให้ครอบคลุมในทุกระดับ ในการสั่งจ่ายยากัญชาให้ผู้ป่วย แต่เนื่องจากมีจำนวนมาก จึงต้องทยอยดำเนินการ อย่างไรก็ตาม สถานพยาบาลที่จะสั่งจ่ายยากัญชาได้นั้น ต้องได้ผ่านการรับรอง อย.ก่อน สำหรับรายงานตัวเลขผู้ใช้น้ำมันกัญชาเกินขนาดแล้วได้รับผลกระทบจนต้องเข้าโรงพยาบาลนั้น ขณะนี้พบมีการรายงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีการเก็บตัวเลขที่ชัดเจน ทั้งนี้ ขอเตือนประชาชนในการใช้น้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น เนื่องจากที่ผ่านมามีผู้ใช้หยดน้ำมันกัญชาใต้ลิ้นแล้วได้รับผลกระทบจากการใช้ เช่น หลับไม่รู้เรื่องเป็นเวลากว่าหนึ่งวัน ดังนั้น หากจะใช้ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีและต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์” ศ.นพ.ปิยะสกลกล่าว และว่า ยืนยันว่ากัญชายังเป็นยาเสพติด เนื่องจากเข้าร่วมการประชุมสมัชชาโลกครั้งล่าสุดขององค์การอนามัยโลก ที่นครเจนีวา ซึ่งได้เข้าหารือกับรองผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ผู้แทนประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ โดยมีความชัดเจนว่ายังคงประกาศให้กัญชาเป็นสารเสพติด เพียงแต่ในกัญชามีสาร 2 ส่วน ได้แก่ สารซีบีดี และสารทีเอชซีที่สามารถนำใช้รักษาโรคได้ ซึ่งสารบางตัวต้องควบคุมปริมาณและอยู่ภายใต้การควบคุม โดยสารทีเอชซีในกัญชาที่ให้ฤทธิ์มึนเมาและมีมากในกัญชา องค์การอนามัยโลกประกาศให้ต้องต่ำกว่าร้อยละ 0.2 ถึงจะสามารถนำมาสกัดหรือประกอบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นได้ เช่น ช็อกโกแลต ลูกอม เป็นต้น

ศ.นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ยืนยันว่ากัญชาในไทยยังคงเป็นยาเสพติดตามกฎหมาย แต่ไทยมีความก้าวหน้าและทันสมัยกว่าประเทศอื่น เนื่องจากไทยประกาศให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ได้เพื่อประโยชน์ในการรักษาภายใต้การสั่งจ่ายของแพทย์ โดยแพทย์ผู้สั่งจ่ายจะถูกอบรมและได้รับใบอนุญาตโรคให้ประกอบโรคให้ใช้กัญชาได้ ซึ่งกัญชาจะต้องมีฤทธิ์ทางยาทั้งในการแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ส่วนข้อเรียกร้องให้ไทยเปิดกัญชาเสรี มองว่าจะส่งผลกระทบมากกว่าผลดีอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันแม้ไม่มีการเปิดเสรีไทยยังคงมีแนวโน้มผู้ติดยาเสพติดเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะกัญชา ดังนั้น หากประเทศไทยจะแก้กฎหมาย ต้องคำนึงว่าประเทศต้องอยู่บนโลกใบนี้ร่วมกับประเทศอื่นอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรี

“ในบางประเทศที่เปิดกว้างกัญชา นำกัญชามาสกัดในรูปแบบต่างๆ ก็มีการควบคุมปริมาณการใช้สารออกฤทธิ์ในกัญชา ก่อนที่จะนำมาสกัด เช่น สวิตเซอร์แลนด์ที่มีการขายกัญชาตามร้าน ทั้งในรูปแบบขนม ลูกอม ช็อกโกแลต ยังคงมีการกำหนดปริมาณสารสกัดกัญชาทีเอสซีต่ำกว่าร้อยละ 0.1 และหากสารสกัดกัญชาที่มีทีเอสซีมากกว่าร้อยละ 0.1 ซึ่งทำเป็นยานั้น แพทย์จะต้องเป็นคนสั่งจ่าย และแพทย์ต้องมีใบรับรองการสั่งจ่ายยากัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยสวิตเซอร์แลนด์ไม่ได้เปิดเสรีทั้งหมด” นพ.ปิยะสกลกล่าว

Advertisement

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ได้ประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุทัยธานี ตรวจสอบรายละเอียด ว่า บุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาล มีการไปแจ้งครอบครองนิรโทษกัญชาหรือไม่ และต้องไปดูว่าอยู่ในกลุ่มไหนในการนิรโทษ แต่หากยื่นครอบครองในกลุ่มการศึกษาวิจัยกัญชาทางการแพทย์ก็สามารถสั่งจ่ายยากัญชาได้ ในรูปแบบวิจัย แต่เบื้องต้นหลังจากตรวจสอบรายชื่อ แพทย์ที่สั่งจ่ายยากัญชากับกรมการแพทย์ ไม่พบรายชื่อเข้ารับการอบรมบุคลากรแพทย์สั่งจ่ายยากัญชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image