‘หมอมนูญ’ ห่วงคนนอนไม่หลับ โพสต์เตือนหยด ‘น้ำมันกัญชา’ ใช่ว่าจะได้ผลดีทุกราย

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ และหัวหน้าห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาล (รพ.) วิชัยยุทธ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” เตือนผู้ที่มีการใช้น้ำมันกัญชาเพื่อบำบัดอาการนอนไม่หลับ แต่ปรากฏว่าในบางคน หลังหยดน้ำมันกัญชาใต้ลิ้นก่อนนอน แทนที่จะหลับ กลับตื่น มีอาการประสาทหลอน คลื่นไส้อาเจียน เวียนศรีษะ จนต้องเข้าห้องฉุกเฉินในช่วงกลางดึก ซึ่งในรอบ 1 เดือน มีผู้ป่วยในลักษณะดังกล่าวนับ 10 ราย อีกทั้งได้มีการแนะนำให้ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับทดลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน หากยังไม่ดีขึ้นให้ไปปรึกษาแพทย์ก่อนใช้น้ำมันกัญชา

ทั้งนี้ข้อความระบุว่า

“น้ำมันกัญชา กับการนอนหลับ

Advertisement

คนไทยที่มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนยาก ใช้เวลานานกว่าจะเริ่มหลับได้ นอนไม่ต่อเนื่อง ตื่นบ่อยกลางดึก ตื่นแล้วไม่หลับ หรือตื่นเช้าเกินไปทำให้นอนไม่พอ ได้รับข้อมูลว่าน้ำมันกัญชาจะช่วยให้หลับเร็วขึ้น เพิ่มระยะหลับลึก ลดระยะหลับฝัน และทำให้หลับได้นานขึ้น จึงหันมาทดลองใช้น้ำมันกัญชา ปรากฏว่าในบางคน หลังหยดน้ำมันกัญชาใต้ลิ้นก่อนนอน แทนที่จะหลับ กลับตื่น มีประสาทหลอน คลื่นไส้อาเจียน เวียนศรีษะ มาเข้าห้องฉุกเฉินกลางดึกนับ 10 รายช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เราจึงต้องทำความเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

น้ำมันกัญชามีสารเคมีมากกว่า 100 ชนิด สารที่สำคัญ 2 ชนิดคือ ทีเอชซี (THC) ซึ่งเป็นสารเสพติด และ ซีบีดี (CBD) ไม่ใช่สารเสพติด ฤทธิ์ของน้ำมันกัญชาต่อการนอนหลับขึ้นกับปริมาณ ความเข้มข้น และสัดส่วนของทีเอชซี (THC) ต่อซีบีดี (CBD) ให้ในรูปแบบไหน หยดใต้ลิ้น กินเป็นเม็ด หรือเหน็บทวารหนัก ให้เวลาไหน และความไวของแต่ละคนต่อสารทั้ง 2 ชนิด ผลลัพธ์ของนำ้มันกัญชาต่อการนอนหลับของแต่ละคนจึงแตกต่างกัน ความรู้เรื่องผลของน้ำมันกัญชาต่อการนอนของคนไทยในปัจจุบันยังค่อนข้างจำกัด

ถ้าใช้น้ำมันกัญชาที่มีสารทีเอชซี (THC) สูงและมีสัดส่วนมากกว่าซีบีดี( CBD)หลายเท่า จะมีผลต่อระบบประสาททำให้ตื่นและมีประสาทหลอน แทนที่จะง่วงนอน สารซีบีดี (CBD) ต้านฤทธิ์ของทีเอชซี (THC) มีประโยชน์ช่วยลดความวิตกกังวลทำให้หลับง่ายขึ้น และนอนหลับได้นานขึ้น คนที่มีประสาทหลอนหลังหยดน้ำมันกัญชาใต้ลิ้นมาห้องฉุกเฉินแสดงว่าน้ำมันกัญชาที่ใช้มีความเข้มข้นของสารทีเอชซี(THC)สูง และสารซีบีดี ( CBD)ต่ำ มีผลยืนยันในผู้ป่วยหนึ่งรายที่วัดระดับทีเอชซี( THC)ในเลือดหลังหยดน้ำมันกัญชาใต้ลิ้น พบค่าทีเอชซี(THC)ในเลือดสูงมาก ไม่เหมาะกับการนำมาใช้รักษาโรคนอนไม่หลับ
ในอนาคตถ้าเรามีกรรมวิธีสามารถสกัดซีบีดี (CBD)ให้ได้มากขึ้น และลดสารทีเอชซี (THC)ให้น้อยลง การนำซีบีดี(CBD)ขนาดสูงมารักษาโรคนอนไม่หลับในระยะสั้นอาจมีประโยชน์

Advertisement

ข้อเสียของน้ำมันกัญชาอีกอย่างหนึ่งคือ ระยะแรกถ้ากินแล้วนอนหลับดีขึ้น ต่อไปอาจต้องเพิ่มขนาดน้ำมันกัญชาเพราะจะทนต่อยา และหากหยุดน้ำมันกัญชาจะมีปัญหานอนไม่หลับ และคุณภาพของการนอนหลับแย่ลงต่อเนื่อง บางคนนานถึง 45 วัน

คนที่นอนไม่หลับควรใช้วิธีปรับพฤติกรรม มีสุขอนามัยการนอนหลับ เข้านอนตื่นนอนเวลาเดียวกันทุกวัน หลีกเลี่ยงแสงเข้าตาเช่นแสงจากโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ช่วงใกล้เวลาเข้านอน ไม่ควรออกกำลังกายใกล้เวลานอน ไม่ควรอาบน้ำอุ่นใกล้เวลานอน เพราะอาจเพิ่มอุณหภูมิร่างกาย ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อใหญ่ใกล้เวลานอน หลีกเลี่ยงการงีบช่วงกลางวัน หลีกเลี่ยงการดื่มชากาแฟน้ำอัดลมที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีน ไม่คิดวิตกกังวล ไม่ทะเลาะโต้เถียงก่อนเข้านอน ถ้าเข้านอนแล้วนอนไม่หลับภายใน 20 นาที อย่าฝืนนอนต่อให้ลุกออกจากเตียงไปทำกิจกรรมที่เงียบสงบ ทำสมาธิ เมื่อง่วงแล้วจึงกลับมานอนต่อ หลังจากปรับความคิดและพฤติกรรมแล้ว ยังนอนไม่หลับ ควรปรึกษาแพทย์ครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image