อดีตวิศวกรปลื้ม ‘บัตรทอง’ ยันเป็นสิทธิจำเป็นคนชั้นกลาง

วันที่ 28 พฤษภาคม นายนริศร์ ศักดาพลรักษ์ อายุ 72 ปี อดีตวิศวกร ชาวกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า เป็นหนึ่งในผู้ที่ใช้สิทธิบัตรหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในการรักษาพยาบาลมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งกว่า 10 ปี เคยใช้สิทธิเข้ารักษาฉุกเฉิน 1 ครั้ง ที่โรงพยาบาล (รพ.) ภูมิพล ด้วยอาการปวดท้องจากภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และต่อมาพบว่ามีภาวะเส้นเลือดอุดตันในสมอง จึงเข้ารับการรักษาที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า มาอย่างต่อเนื่องและใช้เงินส่วนตัว แต่ภายหลังมีภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ลิ้นหัวใจเปิดปิดได้เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น

“จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโดยเร็ว คุณหมอได้แจ้งค่าผ่าตัดรักษาสูงถึงหลักล้านบาท ทำให้รู้สึกตกใจมากเพราะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากและเกินกำลัง จึงมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไร ทำให้นึกถึงบัตรทอง แต่เนื่องจากไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทองมานาน และด้วยเป็นการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้ไม่มั่นใจว่าบัตรทองจะช่วยได้แค่ไหน โดยได้ย้ายมารักษาต่อเนื่องที่ รพ.ภูมิพล หมอหัวใจแนะนำให้ผ่าตัดโดยใช้วิธีสายสวน แต่เนื่องจาก รพ.ภูมิพลยังให้การรักษาโดยวิธีนี้ไม่ได้ จึงได้ย้ายไปรักษาที่ รพ.ศิริราช ในเดือนมีนาคม 2561 ช่วงแรกยังไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทอง ยังเป็นการจ่ายค่ารักษาเองไปก่อน ซึ่งในการวินิจฉัยของคุณหมอที่ได้ทำการฉีดสีเพื่อดูสถานะของหัวใจพบว่า นอกจากลิ้นหัวใจที่รั่วแล้ว ยังต้องทำบายพาสเส้นเลือดหัวใจอีก 2 เส้น ดังนั้นการรักษาโดยใช้วิธีสายสวนจึงไม่คุ้มค่า ต้องเป็นการรักษาด้วยการผ่าตัดเปิดหัวใจเพื่อที่จะได้ทำการรักษาในคราวเดียวกันทั้งนี้ จากการผ่าตัดรักษามีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เจ้าหน้าที่ของ รพ.ศิริราช จึงแนะนำให้ใช้สิทธิบัตรทองในการเบิกจ่าย เพราะดูแล้วว่าสามารถเบิกจ่ายได้ จึงทำเรื่องส่งตัวเพื่อนำไปยื่นกับหน่วยบริการต้นสังกัด คือ คลินิกโพธิ์สุวรรณ หมอนัดผ่าตัดในเดือนพฤศจิกายน 2561 เท่ากับว่ารอคิวอีก 6 เดือน เนื่องจากคิวผ่าตัดผู้ป่วยโรคหัวใจที่นี่ยาวมาก และยังมีผู้ป่วยที่เร่งด่วนจำเป็นต้องให้การรักษาก่อน ในระหว่างนั้นมีพยาบาลที่คอย โทรมาติดตามทุก 2 สัปดาห์ เพื่อประเมินอาการอย่างต่อเนื่อง” นายนริศร์กล่าว และว่า ในวันที่เข้ารับการผ่าตัด ยอมรับว่าก็ยังไม่มั่นใจว่าจะใช้สิทธิบัตรทองเบิกจ่ายได้หรือไม่ และยังเป็นห่วงค่าใช้จ่าย

นายนริศร์กล่าวว่า หลังผ่าตัดเปลี่ยนใช้ลิ้นหัวใจเทียมแบบเนื้อเยื่อ ต้องนอนรอดูอาการที่โรงพยาบาลนานถึง 7 วัน ต้องอยู่ในหอผู้ป่วยหัวใจสามัญที่ไม่ต่างจากห้องพิเศษ มีเตียงผู้ป่วยเพียง 20 เตียง และมีพยาบาลคอยดูตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อฟื้นจากการผ่าตัด เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าการรักษาครั้งนี้สามารถใช้สิทธิบัตรทองและได้รับการอนุมัติแล้ว ถือว่าทุกอย่างดีเกินคาด และขณะนี้หมอยังคงนัดตรวจติดตามต่อเนื่องโดยใช้สิทธิบัตรทอง

นายนริศร์กล่าวว่า ในเรื่องมาตรฐานและคุณภาพการรักษานั้น เห็นว่าขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลและแพทย์ผู้ให้การรักษา ทั้งในเรื่องการรักษา จ่ายยา เพราะด้วยระบบที่เปิดกว้าง แต่อาจจำกัดวิธีการรักษาบางอย่างที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ก็ต้องเข้าใจเพราะงบประมาณรัฐที่มีอยู่จำกัด แต่หากถามว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นสิทธิจำเป็นในกลุ่มคนชนชั้นกลางหรือไม่ ตอบได้ว่าจำเป็นในฐานะผู้ที่ประสบเหตุการณ์ด้วยตนเอง ส่วนที่มีข้อเสนอให้จำกัดสิทธิบัตรทองเฉพาะกับคนจนและผู้มีรายได้น้อยนั้น มีความเห็นว่าใช้เส้นแบ่งนั้นไม่ได้ เพราะคนที่มีเงินวันหนึ่งอาจจะประสบภาวะล้มเหลว กลายเป็นคนไม่มีเงินได้ และข้อเท็จจริงไม่มีใครอยากเจ็บป่วยหรือไม่สบายเพื่อขอใช้สิทธิ การใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพจึงเป็นการใช้สิทธิที่จำเป็นเท่านั้น

Advertisement

นายนริศร์กล่าวว่า ในการลดจำนวนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศนั้น รัฐบาลต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่จำกัดการใช้สิทธิ โดยต้องลดปัจจัยทางสุขภาพที่เป็นต้นตอก่อโรค เช่น การจำกัดการใช้ยาปราบศัตรูพืชด้วยการสนับสนุนใช้วิธีอื่นที่ปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การลดใช้น้ำมันประกอบอาหารที่ก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นต้น พร้อมมีมาตรการสนับสนุนการออกกำลังกายควบคู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image