‘ปิยะสกล’ ยันรัฐบาลทำทุกทางสกัด ‘ยาสูบ’ ขึ้นภาษี-เปลี่ยนซองเรียบ-เขตปลอดบุหรี่

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดงานรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2562 พร้อมมอบรางวัลบุคคลและหน่วยงานอุทิศตนดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ โดยมี นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหาร ข้าราชการ และหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคมเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อให้ประเทศภาคีทั่วโลกจัดกิจกรรมส่งเสริม และมีความรู้ให้เท่าทันอันตรายของผลิตภัณฑ์ยาสูบ สำหรับปีนี้ได้กำหนดคำขวัญ “บุหรี่ เผาปอด (Tobaccos burns your lungs)” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการนำผลกระทบของบุหรี่ต่อปอดมาเป็นประเด็นในการรณรงค์ โดยข้อมูลการเสียชีวิตของคนไทยเมื่อปี 2560 บุหรี่เป็นสาเหตุการตายของคนไทยถึง 72,656 ราย โดย 5 อันดับที่มีผลจากบุหรี่ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด 31,604 ราย โรคมะเร็งปอด 13,727 ราย โรคถุงลมปอดพอง 10,852 ราย โรคปอดติดเชื้อ 8,977 ราย และโรควัณโรค 1,856 ราย ซึ่ง 3 ใน 4 โรคผู้เสียชีวิตจากบุหรี่เกิดขึ้นในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 80 กลุ่มอายุ 45-59 ปีคิดเป็นร้อยละ 15 กลุ่มอายุ 25-40 ปี คิดเป็นร้อยละ 4 และ กลุ่มอายุ 0-24 ปี คิดเป็นร้อยละ 1 อีกทั้งพบว่า ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับปอด ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเฉลี่ยครั้งละ 7 วัน แต่ละครั้งต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ย 32,224 บาท หรือวันละ 4,690 บาท ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากบุหรี่ ดังนั้น จึงร่วมกับเครือข่ายจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลกส่งเสริมประชาชนหันมาเลิกบุหรี่

Advertisement

ด้าน ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากการรายงานขององค์การอนามัยโลกและกรมควบคุมโรค จะเห็นว่าบุหรี่เป็นอันตรายและเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพของผู้สูบและผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยสถานการณ์ปัจจุบันยังพบว่าคนไทยกว่า 10 ล้านคนของประชากรไทยยังติดบุหรี่ ดังนั้น การรณรงค์จะต้องไม่มีวันสิ้นสุด ถ้าคนไทยยังมีอัตราติดบุหรี่มากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่นและเยาวชนที่มีแนวโน้มและอัตราการสูบบุหรี่มากขึ้น ซึ่งคนเหล่านี้เป็นอนาคตของชาติ ทำให้การเดินรณรงค์ให้สังคมไทยปลอดบุหรี่ยังจำเป็นต้องเดินหน้าต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามทำทุกวิธีทางเพื่อส่งเสริมให้คนลดบุหรี่ อาทิ การขึ้นภาษีบุหรี่ การออกระเบียบเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ซองบุหรี่ การกำหนดมาตรการพื้นที่ปลอดบุหรี่อย่าง สนามบิน ศูนย์การค้า เพื่อขับเคลื่อนสังคมให้มีพื้นที่สาธารณะปลอดบุหรี่ รวมถึงร่วมมือกับภาคประชาชนอย่างเข้มแข็ง ส่วนมาตรการอื่น สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการให้ความรู้เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ พร้อมเดินหน้าคุ้มครองสิทธิผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

“นอกจากนี้ สธ.มีความพยายามให้ อสม. 1 คน เชิญชวนคนเลิกสูบบุหรี่อย่างน้อย 3 คน และช่วยรณรงค์การเลิกบุหรี่ในชุมชน ซึ่งตั้งเป้าในอนาคตจะช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้ 3 ล้านคน ขณะเดียวกัน หน่วยงานสังกัดสธ.มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยให้คำปรึกษาในการเลิกบุหรี่อีกด้วย” ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image