นักวิจัยเร่งศึกษา ‘ปะการังทนร้อน’ สู้ฟอกขาวรุนแรงทั่วโลก

นักวิจัยเร่งศึกษา ‘ปะการังทนร้อน’ สู้ฟอกขาวรุนแรงทั่วโลก

วันที่ 21 พฤษภาคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) และ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรด้านความหลากหลายทางชีวภาพ จัดสัมมนา ‘ปะการังฟอกขาว วิกฤตโลกร้อน’ ในงานประชุมวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ IBD2019

ดร.ซี มาร์ก เอกิน

Advertisement

ดร.ซี มาร์ก เอกิน จากศูนย์วิจัยการประยุกต์ใช้ดาวเทียมในการสำรวจสถานภาพแนวปะการัง องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) กล่าวว่า จากการกำกับดูแลโปรแกรม Coral Reef Watch เพื่อเฝ้าระวัง ทำนายและเตือนภัยการเกิดปะการังฟอกขาวทั่วโลก พบว่าปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวมีแนวโน้มเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น โดยล่าสุดเกิดปะการังฟอกขาวในปี ค.ศ. 2014-2017 เป็นการฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ปี มีจำนวนปะการังอย่างน้อย 2 ใน 3 ของแนวปะการังทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการฟอกขาว และ 1 ใน 3 ของปะการังฟอกขาวได้ตายไป ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก อีกทั้งในปี 2016 ซึ่งเป็นปีที่น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงที่สุด ส่งผลให้เกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่ Great Barrier Reef แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบการตายของปะการังถึง 29% ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าเหตุการณ์เลวร้ายเช่นนี้จะเกิดใน 20-30 ปีข้างหน้า แต่กลับเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด สำหรับประเทศไทยในปี ค.ศ.2019 พบการฟอกขาวเกิดขึ้นแล้วทั้งอ่าวไทยและอันดามัน แต่อาจไม่เลวร้ายมากนัก

 

Advertisement

“สิ่งที่ต้องเร่งลงมือทำเพื่อลดการฟอกขาวและคุ้มครองแนวปะการังอย่างจริงจัง คือ 1.ลดภาวะโลกร้อน ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกให้เหลือ 350 ppm 2.ลดกิจกรรมที่ไปรบกวนแนวปะการัง เช่น ประเทศไทยมีการปิดพื้นที่ดำน้ำดูปะการังหลายแห่งในปี 2010 ซึ่งช่วยให้ปะการังฟื้นตัวเองกลับมาได้ และ 3.การกระตุ้นจิตสำนึกในการอนุรักษ์อย่างเข้มข้นและจริงจังตั้งแต่บัดนี้ นอกจากนี้งานวิจัยและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามาช่วยฟื้นฟูแนวปะการังเป็นสิ่งสำคัญที่เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”ดร. เอกิน กล่าว

รศ.สุชนา ชวนิชย์ 

นส.วิรัลดา ภูตะคาม

ด้าน นส.วิรัลดา ภูตะคาม นักวิจัยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า ขณะนี้ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเล ศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการัง เนื่องจากประเทศไทยไม่เคยมีการศึกษามาก่อน โดยทีวิจัยนำตัวอย่างปะการังโขดที่เก็บจากทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยมาสกัดดีเอ็นเอเพื่อดูความแตกต่างของลำดับพันธุกรรม พบว่าความหลากหลายทางพันธุกรรมของปะการังโขดในทะเลฝั่งอันดามันมีน้อยกว่าทางฝั่งอ่าวไทย นั่นคือหากเกิดการฟอกขาวหรือโรคระบาดที่มีผลต่อปะการังโขดในฝั่งอันดามันจะมีโอกาสเสี่ยงสูญพันธุ์ได้ ทั้งนี้ยังได้เตรียมศึกษาปะการังสกุลอื่นๆ เพื่อสร้างฐานข้อมูลความหลากหลายทางพันธุกรรมปะการังของประเทศ สำหรับเฝ้าระวังปะการังสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

“นอกจากนี้ทีมวิจัยอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล และค้นหาเครื่องหมายโมเลกุล (DNA marker) ที่สัมพันธ์กับลักษณะการทนต่อการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเล หรือความทนร้อนของปะการัง สำหรับใช้คัดเลือกปะการังพ่อแม่พันธุ์ที่ทนร้อนเพื่อขยายพันธุ์ ก่อนทำการย้ายปลูกกลับสู่ทะเล ช่วยให้การฟื้นฟูมีประสิทธิภาพได้ปะการังที่ทนต่อสภาวะภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต”นส.วิรัลดา

 

ด้าน รศ.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีความพยายามฟื้นฟูแนวปะการังมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการังประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังหลายเทคนิคทั้งการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ คือการหักปะการังเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วมาเพาะพันธุ์เหมือนการหักปักชำ และการขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศ ด้วยการนำไข่กับสเปิร์มของปะการังมาผสมเทียมและเพาะฟักในระบบเพาะฟักปะการัง ซึ่งปัจจุบันมีปะการังที่เกิดจากการผสมเทียมอายุมากที่สุดถึง 8 ปี

“ขณะนี้สิ่งที่พยายามทำ คือการเพาะเลี้ยงปะการังที่ขยายพันธุ์ได้ในระบบเพาะฟักให้สามารถทนต่อการเพิ่มของอุณหภูมิน้ำทะเลได้ ซึ่งผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะปะการังที่นำไปปลูกกลับสู่ทะเลในปี ค.ศ. 2016 ซึ่งเป็นปีที่เกิดปะการังฟอกขาวอย่างหนัก ปรากฏว่าปะการังกลุ่มนี้ไม่ฟอกขาว ที่สำคัญล่าสุดกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการังยังประสบความสำเร็จในการนำสเปิร์มของปะการังโต๊ะแบบพุ่ม มาผ่านกรรมวิธีการแช่เยือกแข็งในไนโตรเจนเหลวและนำกลับมาผสมใหม่กับไข่ปะการัง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลก และมีการตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยระดับนานาชาติแล้ว ความสำเร็จของการนำสเปิร์มของปะการังมาผ่านกรรมวิธีการแช่เยือกแข็งจะช่วยทำให้สามารถเก็บรักษาสเปิร์มได้นานขึ้น สามารถผสมพันธุ์ปะการังได้ปีละหลายครั้ง รวมทั้งเป็นการป้องกันการสูญพันธุ์ของปะการังอีกด้วย” รศ.สุชนา กล่าว และว่า อย่างไรก็ดีความร่วมมือและพยายามอย่างจริงจังในการหันกลับมาดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม คือความหวังสำคัญที่จะช่วยลดการสูญเสียและรักษาแนวปะการัง หัวใจสำคัญของระบบนิเวศทางทะเลของโลกนี้ไว้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image