ไม่จริง! ใช้ภาพใบหน้าวิเคราะห์อาการป่วย”ไข้เลือดออก” แพทย์ยันไม่ใช่วิธีมาตรฐาน อย่าหลงเชื่อ

ไม่จริง! ใช้ภาพใบหน้าวิเคราะห์อาการป่วย”ไข้เลือดออก” แพทย์ยันไม่ใช่วิธีมาตรฐาน อย่าหลงเชื่อ

วันที่ 1 มิถุนายน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณี ที่มีการเผยแพร่ข้อความในโซเซียลมีเดียว่า มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ นำภาพใบหน้ามาวิเคราะห์อาการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ซึ่งข้อมูลดังกล่าวกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า การใช้โปรแกรมดังกล่าวมาเพื่อวินิจฉัยการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ไม่ใช่วิธีมาตรฐาน เพราะผู้ป่วยที่มีอาการไข้และหน้าแดง ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคไข้เลือดออกอย่างเดียว อาจเป็นโรคอื่นๆ ได้ ดังนั้นประชาชนอย่าหลงเชื่อ เพราะอาจทำให้ได้รับการรักษาล่าช้า อาการอาจรุนแรงขึ้น เป็นเหตุสำคัญทำให้มีโรคแทรกซ้อนและเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ หากเจ็บป่วยควรมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 จ.นครราชสีมา (สคร.9 นครราชสีมา) ประสานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บุรีรัมย์ เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ต่อไป
และว่า โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะ อาการที่พบส่วนใหญ่มีไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาจมีผื่นหรือจุดเลือดขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วัน ไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง หากแพทย์ให้กลับมารักษาตัวที่บ้านก็ไม่ต้องกังวล เพราะส่วนใหญ่โรคไข้เลือดออกหายได้เอง หากไม่เข้าสู่ภาวะช็อก มีเพียงบางรายเท่านั้น ซึ่งจะมีอาการในช่วงไข้ลด โดยผู้ป่วยจะมีอาการซึม กระสับกระส่าย ชีพจรเต้นเร็ว มือเท้าเย็น บ่นปวดท้อง อาจมีเลือดกำเดา อาเจียนปนเลือด หรือถ่ายปนเลือด หากมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต้องรีบกลับไปพบแพทย์ที่เดิมให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีภาวะอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด ภาวะติดสุรา ธาลัสซีเมีย หรือมีประวัติเป็นไข้เลือดออกมาก่อน เป็นต้น

“ขณะนี้ ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรค และเป็นฤดูที่เหมาะสมต่อการเพาะพันธุ์ของยุงลาย ที่เป็นพาหนะนำโรคไข้เลือดออก กรควบคุมโรค จึงขอให้ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยใช้มาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำและเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำต้องปิดฝามิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ นอกจากนี้ขอให้ป้องกันการถูกยุงกัด โดยทายากันยุง และนอนในมุ้ง เป็นต้น ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สอบถามเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422″ นพ.สุวรรณชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image