‘นักสัตววิทยา’ ขออย่าห่วง ชี้ ‘นกเขา’ เปลี่ยนไปชุกกลางกรุง ‘ไม่แพร่โรค-คุกคามเมือง’  

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน นายเกรียงศักดิ์ หามะฤทธิ์ อาจารย์พิเศษคณะวนศาสตร์ นักสัตววิทยากลุ่มกีฏและสัตววิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยว่า ช่วงหลัง 10-15 ปีมานี้ นกเขาอพยพเข้ามาในกรุงเทพมหานครมากขึ้น สาเหตุเพราะอดีตนกเขามักจะถูกล่าโดยมนุษย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ชานเมือง เมื่อนกถูกล่า มันจึงเกิดความกลัวและหวาดระแวงที่จะถูกทำร้ายและถูกล่า จึงอพยพเข้าสู่เมือง ซึ่งคนในเมืองไม่มีพฤติกรรมล่า นกเขาจึงเริ่มเรียนรู้และเข้าใกล้มนุษย์ในระยะที่เหมาะสม ไม่กลัวคนเหมือนเมื่อก่อน ส่วนระยะเวลาที่อพยพเข้าเมืองนั้นอาจมาพร้อมกับนกพิราบ โดยเมื่อปี 2549 ซึ่งคณะได้ทำงานสำรวจนกในเมือง ปีนั้นน่าจะเป็นปีที่เริ่มเห็นนกเขาจำนวนมาก ส่วนเชื้อโรคที่มาจากนกเขานั้นมีอันตรายหรือไม่ โดยปกตินกเขาไม่ได้อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่เหมือนนกพิราบ แต่จะอยู่กันเป็นคู่และครอบครัวเล็ก ส่วนนกเขาไฟจะอยู่เป็นตัวเดี่ยว นกเขาส่วนใหญ่จะอาศัย ทำรังอยู่ตามต้นไม้ ไม่ได้อยู่ตามชายคาและหลังคาบ้านเรือนประชาชนเหมือนนกพิราบ ดังนั้น มูลนกเขาจึงไม่ได้มีมากเหมือนนกพิราบที่มักจะอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ และมักถ่ายมูลสะสมจำนวนมาก ซึ่งมูลของนกพิราบจะมีเชื้อโรคทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบและนำมาสู่การเกิดโรคสู่คน

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวว่า นกเขามักอยู่จะเป็นคู่เพราะมีพฤติกรรมผสมพันธุ์กันตลอดปี มันจึงจับคู่อยู่กันเป็นคู่ ยกเว้นนกเขาใหญ่จะรวมตัวกันออกหากินครั้งละ 200-300 ตัวก่อนแยกย้ายกันอยู่กันครอบครัวเล็ก เดี่ยวในตอนนอน สำหรับมูลนกเขายังไม่เคยมีข่าวว่าเป็นอันตรายหรือมีเชื้อโรครุนแรง เพราะพฤติกรรมของนกเขาไม่ได้อยู่รวมกันเป็นฝูง หรือถ่ายมูลในปริมาณมาก อีกทั้ง นกเขาเป็นนกกินธัญพืช หญ้า และกินเม็ดกรวดขนาดเล็กเพื่อช่วยย่อยอาหาร ส่วนปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะพบนกเขาในทุกพื้นที่ที่มีต้นไม้ แหล่งอาหารที่ยังทำการเกษตรกรรม ไร่นา แหล่งที่มีอาหารสัตว์ บางพื้นที่ที่มีการให้อาหารสัตว์ เช่น พื้นที่หมู่บ้านจัดสรร โรงเรียน มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ นอกจากสาเหตุการหนีการล่าเข้ามาในเมืองแล้ว ประการต่อมาคือเมืองมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น มีพื้นที่สีเขียว ต้นไม้และแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหารให้นกเขา

Advertisement

“การอพยพเข้ามาของนกเขาไม่ได้เป็นปัญหาต่อเมือง เพราะปัจจุบันยังมีปริมาณไม่มากเมื่อเทียบกับนกพิราบที่เป็นปัญหาเมืองมากกว่า ซึ่งการอพยพเข้ามาสู่เมืองและมีจำนวนมากขึ้นถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการเพิ่มประชากรนกเขา ซึ่งนกเขายังมีระยะห่างที่จะเข้ามาคลุกคลีกับผู้คน ส่วนนี้มองว่านกเขาไม่ได้เป็นปัญหาเมือง แต่ประดับเมืองมากกว่า เพราะมันไม่คุกคามคน ไม่คุกคามเมือง ไม่เยอะถึงขั้นต้องจัดการ และยืนยันว่าเป็นผลบวกกับเมือง” นายเกรียงศักดิ์ กล่าวและว่า สำหรับในพื้นที่เมืองส่วนใหญ่จะพบนกเขาใหญ่ และนกเขาชวา ซึ่งทั้งสองไม่ได้ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ยกเว้นนกเขาไฟที่จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และยังคงพบในพื้นที่เมืองอยู่บ้าง

นายเกรียงศักดิ์ หามะฤทธิ์

นายเกรียงศักดิ์ กล่าวถึงข้อแนะนำต่อประชาชนว่า นกเขายังอยู่ในระยะปลอดภัย ไม่ได้เป็นภัยคุกคาม เป็นปัญหาเมือง ฉะนั้น ไม่ต้องเกรงว่านกเขาจะก่อปัญหา ขอให้ไม่ทำร้ายหรือจับสัตว์ ขอให้ต่างคนต่างคู่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม แต่ข้อกังวลส่วนใหญ่สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะแมวมักจะไปคุกคามลูกนกเกิดใหม่มากกว่า ซึ่งก็เป็นปกติของสัตว์นักล่า ไม่ได้เป็นพฤติกรรมรุนแรงแต่ขอให้เจ้าของเฝ้าระวัง ยืนยันอีกครั้งเรายังอยู่ร่วมกันกับนกเขาได้

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
— นักสัตววิทยา อึ้ง แค่ 10 ปี พฤติกรรม “นกเขา” เปลี่ยน ประกาศเลย ต่อไปนี้จะไม่กลัวคนอีกแล้ว

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image