‘หมอประกิต’ ฉุนรัฐบาลเข้าข้างธุรกิจยาสูบ เลื่อนขึ้น ‘ภาษีบุหรี่’ เมินสุขภาพประชาชน

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ขยายเวลาปรับภาษีบุหรี่อัตราเดียวร้อยละ 40 ออกไปอีก 1 ปี โดยมีผลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 จากเดิมที่เห็นชอบปรับภาษีบุหรี่ราคาไม่เกิน 60 บาท คิดเป็นร้อยละ 20 และราคาเกิน 60 บาท คิดเป็นร้อยละ 40 โดยมีเหตุผลว่าต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบุหรี่ทั้งหมด ว่า ปัจจุบันผู้สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ คนไทยป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่ 1 ล้านคน และข้อมูลในปี 2557 มีคนไทยที่ป่วยด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล 580,794 ครั้ง แต่ละครั้งเฉลี่ยอยู่โรงพยาบาลครั้งละ 6 วัน โดยตัวเลขนี้นับเฉพาะผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย 3 กองทุนของรัฐ คือ ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เท่านั้น ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายมากกว่ารายได้จากธุรกิจยาสูบ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างจริงจัง

“การเลื่อนปรับภาษีบุหรี่ ทำให้เสียโอกาสในการใช้เครื่องมือในการควบคุมยาสูบ เรียกร้องรัฐบาลให้ชดเชยการเลื่อนการขึ้นภาษียาสูบครั้งนี้ ด้วยการแสดงความจริงใจในการสนับสนุนการควบคุมยาสูบ ผมเข้าใจที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ แต่เมื่อรัฐบาลตัดสินใจในนโยบายที่จะส่งผลดีต่อธุรกิจยาสูบ ก็ย่อมหมายถึงผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน เพราะเรื่องยาสูบกับสุขภาพเป็นเหมือนเกม ผลรวมเป็นศูนย์ (Zero Sum Game) คือเมื่อฝ่ายธุรกิจยาสูบได้ ก็คือสุขภาพของประชาชนที่จะเสีย รัฐบาลจึงต้องแสดงความจริงใจในการให้ความสำคัญกับการปกป้องสุขภาพ ไม่ยิ่งหย่อนกว่าการปกป้องธุรกิจยาสูบ” ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ศ.นพ.ประกิต กล่าวอีกว่า ขณะนี้การควบคุมยาสูบดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 กำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมยาสูบจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เป็นเลขานุการ ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ระบุว่า โครงสร้างการควบคุมยาสูบโดยภาครัฐในระดับพื้นที่ของประเทศไทยยังถือว่าอ่อนแอ เนื่องจากพบว่า มีผู้ที่ทำงานด้านการควบคุมยาสูบอย่างเต็มเวลาเพียงจังหวัดละ 1 คน เท่านั้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องดูแลแผนการควบคุมสุราควบคู่ไปด้วย ทำให้แผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบที่ผ่าน ครม. และจังหวัดต่างๆ ขาดบุคลากรที่จะดำเนินการตามแผนการควบคุมยาสูบในจังหวัดต่างๆ จึงมีความคืบหน้าล่าช้ากว่าที่ควร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image