หน้าฝนเสี่ยงเจอ ‘เห็ดพิษ’ หมอแนะวิธีป้องกัน-แก้อาการด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านไทย

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน นพ.สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในทางการแพทย์แผนไทย เห็ดถือเป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้ช้ำใน บำรุงร่างกาย และช่วยให้เจริญอาหาร งานวิจัยในปัจจุบันยืนยันว่าเห็ดบางชนิด เช่น เห็ดหอม และเห็ดหลินจือ มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย และช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ คุณสมบัติเด่นของเห็ด คือ มีไฟเบอร์สูง และแคลอรี่ต่ำ มีปริมาณโปรตีนสูงประมาณร้อยละ 5-34 มีไขมันต่ำเพียงร้อยละ 1-8 ของน้ำหนักแห้ง 100 กรัม มีแร่ธาตุ และวิตามินสูง เห็ดจึงเป็นอาหารสุขภาพที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพดี

“ฤดูฝนเป็นช่วงที่เหมาะสมของการเจริญเติบโตของเห็ดหลากหลายชนิดโดยเฉพาะเห็ดป่า ชาวบ้านมักเก็บ  เห็ดป่ามาเพื่อค้าขายและบริโภคตัวอย่างเห็ดป่าที่กินได้และรู้จักกันดีในประเทศไทย ได้แก่ เห็ดระโงกขาว เห็ดโคน เห็ดขอน และเห็ดเผาะ เป็นต้น แม้เห็ดป่าส่วนใหญ่จะรับประทานได้และมีประโยชน์ แต่เห็ดป่าบางชนิดก็มีพิษร้ายแรง เช่น เห็ดระโงก  เห็ดระงาก เห็ดหัวกรวดครีบเขียว กลุ่มเห็ดถ่านเลือด กลุ่มเห็ดน้ำหมึก เป็นต้น เมื่อพิษเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์ทําลายเนื้อเยื่อตับ ไต ระบบทางเดินอาหาร ระบบเลือด ระบบหายใจ ระบบประสาท และทำให้เกิดอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ อาการแสดงหลังจากได้รับพิษ คือ มีอาการท้องร่วง เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส อาเจียน ถ่ายเหลว ความรุนแรงขึ้นกับเพศ อายุ และปริมาณในการรับประทาน” นพ.สรรพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นพ.สรรพงศ์ กล่าวว่า ภูมิปัญญาชาวบ้านมีการสืบทอดความรู้ในการสังเกตเห็ดพิษ คือ หากเห็ดชนิดนั้นขึ้นอยู่ใกล้มูลสัตว์หรือบนมูลสัตว์ รูปร่างคล้ายสมองหรืออานม้า มีสีน้ำตาลหรือสีสันฉูดฉาด หมวกเห็ดมีสีขาว มีปุ่มปม มีรู ไม่เป็นครีบ มีวงแหวนใต้หมวก มีปลอกหุ้มโคนหรือเมื่อดอกแก่ มีกลิ่นเอียนหรือกลิ่นค่อนข้างมากก็ให้พึงระวังว่าจะเป็นเห็ดพิษ สารพิษในเห็ดโดยส่วนใหญ่จะสลายตัวด้วยความร้อน ดังนั้นการบริโภคเห็ดให้ปลอดภัย ควรปรุงให้สุกก่อนเสมอ ไม่ควรกินเห็ดดิบโดยเด็ดขาด ทั้งนี้ เมื่อผู้ป่วยได้รับพิษจากเห็ด การปฐมพยาบาลเบื้องต้นควรทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้มากที่สุด และหากมีต้นรางจืดอยู่บริเวณบ้าน สามารถล้างพิษเห็ดได้เบื้องต้น และรีบไปพบแพทย์ทันที โดยนำเห็ดที่เป็นต้นเหตุให้แพทย์ผู้ตรวจวินิจฉัยด้วย ข้อห้ามที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังจากบริโภคเห็ดพิษโดยเด็ดขาด เพราะส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้ปวดหัวอย่างรุนแรง คลื่นไส้อาเจียน หายใจเร็วและลำบาก อาจทำให้พิษกระจายรวดเร็วขึ้น ถึงขั้นหมดสติและเสียชีวิตได้

นพ.สรรพงศ์ กล่าวอีกว่า แนะนำให้ประชาชนบริโภคเฉพาะเห็ดที่ตนเองรู้จักและเคยรับประทานเท่านั้น หากไม่มั่นใจว่าเห็ดที่พบเห็นสามารถกินได้ หรือไม่มีใครเคยนำมากิน หรือมีรายงานประวัติความเป็นพิษของเห็ดดังกล่าว ก็ไม่ควรรับประทาน และให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของเห็ดให้แน่ชัด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image