วันสิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านไป มีสิ่งใด ดีขึ้นมาบ้าง(ในประเทศไทย)

 องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อให้ประชาชน ตระหนักถึงปัญหามลพิษ วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิด และนับวันจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยกำหนดตั้งแต่ พ.ศ. 2517
นั่นคือ เป็นเวลา 45 ปี มาแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่า กว่าครึ่งโลกแทบจะไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย

มองใกล้ตัวในประเทศไทย เราจะเห็นว่า รอบตัวปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทั้งพลาสติก ขยะสด ขยะแห้ง โดยมากกว่า 10 จังหวัดในประเทศไทย มีภูเขาขยะที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ ทั้งเรื่องกลิ่นเหม็น น้ำเสีย สัตว์นำโรค แต่หน่วยงานท้องถิ่นก็ไม่สามารถทำอะไรได้เลย

เพราะมีทั้งผลประโยชน์บางอย่างในกองขยะนั้น รวมไปถึงด้อยความสามารถในการจัดการ

ปล่อยให้ประชาชนอดทน ทนได้ก็ทน ทนไม่ได้ก็ต้องทน

Advertisement

รายงานจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) แจ้งว่า ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมามีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 12 % ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีการนำขยะพลาสติกกลับไปใช้ประโยชน์เฉลี่ยประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นเศษขยะถุงพลาสติกที่ปนเปื้อนอาทิ ถุงร้อน ถุงเย็นบรรจุอาหาร ถุงหูหิ้ว เป็นต้น ประมาณ 80 % หรือประมาณ 1.2 ล้านตัน โดยเฉพาะปริมาณขยะที่เกิดขึ้น ปี 2559 จำนวน 27 ล้านตัน ทำให้มีปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ยสูงถึงประมาณ 3.2 ล้านตัน

อีกทั้งข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า แต่ละปีทั่วโลกมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 5 แสนล้านใบ ซึ่งครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ช้อน ส้อม แก้วน้ำพลาสติก นอกจากนี้แต่ละปี มีปริมาณขยะพลาสติกกว่า 13 ล้านตันไหลลงสู่ทะเล

ประเทศไทยได้ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลมากที่สุดในโลก อีกทั้งถุงพลาสติกใช้เวลาในการย่อยสลายนานถึง 450-500 ปี หากถูกทิ้งหรือไหลลงสู่ทะเลในทะเล ส่งผลต่อสัตว์ทะเล เช่น เต่าทะเล หรือปลาขนาดใหญ่ จะคิดว่าถุงพลาสติกเป็นแมงกระพรุน เมื่อกินเข้าไปไม่สามารถย่อยได้

Advertisement

ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทส.ก็ ระบุว่า ในแต่ละวัน จะพบเต่าทะเล 1 ตัว เกยตื้น เนื่องจากกินขยะพลาสติกเข้าไป เฉลี่ยแล้ว ใน 1 เดือน มีเต่าทะเลซึ่งเป็นสัตว์หายากมาก ทั้งป่วยและตายไปถึง 30 ตัวด้วยกัน

มาดูเรื่องอากาศ นอกจากการร้องเรียนกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ และการฟุ้งกระจายของสารเคมี ที่ออกมาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ขาดความรับผิดชอบอยู่เป็นเนืองนิจแล้ว เรื่องของฝุ่นขนาดจิ๋ว พีเอ็ม 2.5 ที่ดูจะเป็นวิกฤตทางอากาศแบบใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นมาในห้วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา

ฝุ่นจิ๋วชนิดนี้ สามารถทะลุทะลวงเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ รวมไปถึงเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆของร่างกายเราได้อย่างที่ใครคาดไม่ถึง จากเดิมที่เราเผชิญแค่ฝุ่นขนาด 10 ไมครอน ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจหนักอยู่แล้ว

ฝุ่นขนาดเล็ก ขนาดจิ๋วเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงอากาศปิด คือ ที่จริงมันก็ลอยละล่องปนเปื้อนอยู่ในอากาศของมันอยู่แล้ว แต่เวลาไหนพื้นที่ไม่มีลม อากาศปิด ฝุ่นเหล่านี้จะไม่มีการเคลื่อนย้ายไปไหน สะสมปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใคร หน่วยงานไหนก็แก้ไม่ได้ ตราบใดที่รถยังคงวิ่ง จราจรยังคงติดขัด และมีการก่อสร้างไม่หยุดไม่หย่อน ทั้ง พีเอ็ม 2.5 และ พีเอ็ม 10 ก็จะไม่มีวันหมด แล้วยังมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ยังไม่สามารถทำอะไรมันได้เลย

ข้อมูลจากองค์กรสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า พบว่า 9 ใน 10 ของประชากรโลกหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนมลพิษเข้าไป ทำให้แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 7 ล้านคน หรือทุก 1 ชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตราว 800 คน ในจำนวนนี้ เกินครึ่ง หรือ ราว4 ล้าน คน อยู่ในแถบเอเชีย – แปซิฟิก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในระดับโลกถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

มาถึงเรื่องของพื้นที่สีเขียวในประเทศบ้าง แม้ทาง กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะแถลงอย่างเป็นทางการว่า ปี 2561 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นมาถึง 3 แสนไร่ด้วยกัน

แต่ข่าวที่ปรากฏออกมาทุกวันนี้ก็คือ ทุกครั้งของการออกปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ พญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และฉลามขาว ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เราก็ยังพบว่า ทั้งป่าสงวนแห่งชาติ ป่าอนุรักษ์ รวมไปถึงป่าชายเลน ยังคงถูกบุกรุก รวมกันแล้วทั้งปีก็นับหมื่นไร่

และนี่ก็ยังไม่รวมพื้นที่สีเขียวในเมือง ต้นไม้ใหญ่ที่ถูกโค่นทิ้งทำลาย โดยมีตึกใหญ่เข้ามาแทนที่

ข่าวดีเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ว่าจะไม่มี มีเหมือนกัน แต่น้อยมากเมื่อเทียบกับข่าวแย่ๆที่เจอทุกวัน

ผศ.จิรพล สินธุนาวา นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และนายกสมาคมพัฒนาสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทุกคนรับทราบกันว่า สิ่งแวดล้อมแย่ลง แต่ก็ได้แค่รับทราบ ยังไม่มีใครกล้าทำอะไรจริงจังเพื่อให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ทุกวันนี้จึงกลายเป็นว่า เรากำลังสร้างภาระใหญ่หลวงให้รุ่นลูกหลาน เพราะเราเฉยเมยกับความเสียหาย และวิกฤตสิ่งแวดล้อมในเวลานี้

“ปากบอกว่ารักโลก รักลูก แต่ไม่ได้ทำอะไรที่แสดงว่ามีความรักอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามหลายคนยังกำลังจะส่งลูกไปอยู่กับวิกฤตสิ่งแวดล้อมในอนาคตอีกด้วย เพราะพฤติกรรมประจำวันที่ล้วนสร้างภาระให้โลก”ผศ.จิรพล กล่าว

พฤติกรรมประจำวันที่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้เสื่อมลงเรื่อยๆ ที่ผศ.จิรพล ว่า เช่น การใช้ของครั้งเดียวแล้วทิ้ง การใช้รถยนต์ที่อาศัยพลังงานจากฟอสซิล การรับประทานอาหารเหลือแล้วทิ้ง เป็นต้น พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่จะค่อยๆสร้างวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต

หมายความว่า หากต้องการสร้างอนาคตให้ทั้งลูกและโลก จะต้องช่วยกัน ลด ละ และเลิกได้ยิ่งดีกับพฤติกรรมเหล่านี้

หากทำไม่ได้หรือไม่อยากทำ ก็ป่วยการ ที่จะออกปากบอกใครว่า รักโลก หรือรักลูก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image