เฝ้าฟูมฟักพะยูนน้อย ‘มาเรียม’หลงแม่

 

“เป็นเรื่องสะเทือนใจที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง นับแต่ที่ได้รักษาสัตว์น้ำมาŽ”

สัตวแพทย์หญิง (สพญ.) นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวขณะที่เรากำลังคุยกันเรื่องของเจ้ามาเรียม ลูกพะยูน วัยประมาณ 4-5 เดือน ที่พลัดหลงกับแม่ และว่ายน้ำตามเรือเข้าเขตทะเลกระบี่ ตั้งแต่เดือนเมษายน โดยเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไปพบเห็นเข้าและดูแลเอาไว้

ต่อมาทีมงานได้ตัดสินใจย้ายเจ้าพะยูนน้อยมาไว้ที่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เพราะพื้นที่ดังกล่าว ชาวบ้านค่อนข้างจะเข้าใจในเรื่องของการดูแลพะยูนเป็นอย่างดี รวมไปถึงทะเลบริเวณนั้นยังเป็นที่อาศัยของพะยูนฝูงใหญ่อีกด้วย

Advertisement

ทีมงานและชาวบ้านเกาะลิบง ตั้งชื่อเจ้าพะยูนน้อยตัวนี้ว่า มาเรียมŽ มีความหมายว่า ผู้หญิงที่มีจิตใจงดงามŽ เปรียบเสมือนความรัก ความหวงแหน และความผูกพันที่ชาวบ้านเกาะลิบงมีต่อพะยูนซึ่งเป็นสัตว์สงวนประจำท้องถิ่นของ จ.ตรัง

“ลองนึกภาพนะคะ เด็กตัวเล็กๆ ที่ไม่รู้ว่าแม่อยู่ไหน เวลาเราพายเรือลงไปดู เขามองเห็นท้องเรือแบนๆ ก็ว่ายน้ำเข้ามาหา และพยายามเอาแขนมาโอบท้องเรือ เพราะคิดว่าเป็นแม่ เป็นแบบนี้ทุกวัน ใครเห็นก็อดที่จะน้ำตาซึมไม่ได้เลยŽ”

Advertisement

พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ความผูกพันระหว่างพะยูนแม่ลูกนั้นมีสูงมาก พวกมันจะอยู่ด้วยกันจนลูกพะยูนอายุถึง 8 ปี โดยลูกพะยูนจะหย่านมตอนอายุราวปีครึ่ง แต่เจ้ามาเรียมอายุแค่ 5 เดือน ต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวและขาดที่พึ่งพิง

 

คุณหมอนันทริกา บอกว่า แต่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชาวบ้านเกาะลิบง ก็พยายามดูแลเจ้ามาเรียมอย่างดีที่สุด

เขาไม่ต่างจากเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งเลย แต่จะเป็นเด็กน่าสงสารมาก ทุกคนที่ดูแลมาเรียมจึงทุ่มเทเป็นพิเศษ เอาใจแลกใจ คิดว่าเป็นแม่ของเขาเลยŽ

เด็กทารกต้องกินนมบ่อยขนาดไหน เจ้ามาเรียมก็ไม่ต่างกัน ทีมงานต้องผลัดเวรกันป้อนนมวันละ 10 ครั้ง ทั้งกลางวันและกลางคืน นมของมาเรียมเป็นนมสูตรพิเศษ ทำจากนมแพะ ไม่มีน้ำตาล และผสมวิตามินที่จำเป็นสำหรับลูกพะยูน

 

“เวลาให้นม เราจะมีท่าเฉพาะคล้ายๆ กับแม่ให้นมลูก หลายครั้งมองเขาในอ้อมกอดระหว่างป้อนนมแล้วสงสารจับใจ เพราะเขาจะเอาหัวมาซุกกับซอกแขนของเราแล้วก็หลับ คนทำหน้าที่ให้นมเจ้ามาเรียมเสียน้ำตาไปแล้วทุกคนŽ” คุณหมอนันทริกา กล่าว

แม้ว่าทุกฝ่ายจะช่วยกันดูแลเจ้ามาเรียมน้อยดีแค่ไหน แต่ก็มีเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ

คุณหมอนันทริกา บอกว่า ช่วงน้ำใหญ่ น้ำจะขึ้นเร็ว ลงเร็ว ซึ่งพะยูนแม่ลูกทั่วๆ ไป ช่วงน้ำใหญ่ แม่พะยูนจะคอยปลุกลูกเมื่อเวลาน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ให้ว่ายน้ำไปอยู่น้ำลึก

แต่เพราะเจ้ามาเรียมไม่มีใครนี่เอง อีกทั้งกลางคืนเมื่อถึงเวลานอนด้วยความที่โหยหาอ้อมกอดจากแม่ มันก็จะไปซุกอยู่กับซอกหิน หรือโขดหินแล้วหลับ และหลายครั้งที่มันหลับลืมแล้วน้ำลง จึงติดแหง็ก ตรงซอกหิน เดชะบุญที่ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ไปเจอทุกครั้ง

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เจ้ามาเรียมก็เหมือนลูกสาวคนหนึ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะอยู่ในวัยค่อนข้างจะอ่อนไหว ที่สำคัญคือ พะยูนเป็นสัตว์ที่หายากมากในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการทำงานตรงนี้ก็ต้องดูแลมาเรียมให้ดีที่สุด

“ผมสั่งให้เจ้าหน้าที่ของเราจัดเวรยามเฝ้าดูมาเรียมตลอด 24 ชั่วโมง แต่ทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยาน และชาวบ้านในพื้นที่เขาก็จะมาช่วยเราตลอด ตั้งใจว่าเมื่อเขาแข็งแรงพอก็จะปล่อยให้ไปใช้ชีวิตเหมือนพะยูนตามธรรมชาติตัวอื่นๆŽ”

นายจตุพร บอกด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ก็ไม่ได้ขังหรือล้อมรั้วเจ้ามาเรียมไว้ แต่มาเรียมก็ว่ายน้ำไปมาอยู่ในโซนที่เจ้าหน้าที่เข้าหาได้

“เขาจะมีแม่ ที่เราเรียกกันว่าแม่ส้ม เป็นเรือแคนนูลำสีส้ม เจ้าหน้าที่เราจะพายลงไปป้อนนม พอเขาเห็นแม่ส้มก็จะว่ายน้ำเข้ามาหา เข้ามากอดทันที เราก็ป้อนหญ้าทะเล ป้อนนมกันกลางน้ำนั่นแหละ”

Ž
แม้ว่าเจ้ามาเรียมจะน่ารัก น่าสงสารแค่ไหน แต่อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บอกว่า ไม่แนะนำให้ใครเข้าไปหา ไปกอด ไปถูกเนื้อต้องตัว การนั่งเรือเพื่อไปตามหา แต่ปล่อยให้การดูแลเจ้ามาเรียมเป็นของเจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์สัตว์น้ำที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเรื่องนี้ดีกว่า เพราะการจับต้อง การทำให้เขาตกใจ ส่งผลต่อสุขภาพของเขาได้ แต่ อยากให้ทุกคนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ที่คอยดูแลเจ้ามาเรียมจะดีที่สุด

“เรามีจุดหมายเดียวกันคือฟูมฟักเจ้ามาเรียมให้แข็งแรง เพื่อว่าในอีกอย่างน้อย 6 เดือน เมื่อเขาแข็งแรงพอแล้ว จะสามารถไปใช้ชีวิตในทะเลได้ด้วยตัวเองŽ” นายจตุพร กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image