สธ.ยกระดับมาตรฐานจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ เน้นคุณภาพ-ความปลอดภัย

วันที่ 12 มิถุนายน ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ Theme: “Standardizing and Harmonizing EC of MOPH 4.0” เพื่อเปิดโอกาสให้คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ทุกระดับในสังกัด สธ. ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานจริยธรรมการวิจัย เกิดเครือข่ายความร่วมมือ และการพัฒนางานจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ให้เข้าสู่มาตรฐานระดับประเทศและระดับสากล โดยมีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยและนักวิจัยจากหน่วยงานในสังกัด สธ.และมหาวิทยาลัย เข้าร่วมประชุม 570 คน

นพ.สุขุม กล่าวว่า ปัจจุบันมีการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพและเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น อาทิ การผลิตยาชนิดใหม่ วัคซีน การผลิตสมุนไพรเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์และอาหารเพื่อสุขภาพ ทำให้การศึกษาวิจัยทางคลินิกที่ต้องศึกษาทดลองเกี่ยวกับมนุษย์เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ของ สธ. และเครือข่ายคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในระดับจังหวัด เขต และประเทศ ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาโครงการวิจัยที่เหมาะสม ได้กำหนดนโยบายและทิศทางที่ชัดเจน ควบคุมคุณภาพ และจริยธรรมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามมาตรฐานระดับประเทศและสากล รวมถึงปกป้อง คุ้มครองความปลอดภัยแก่อาสาสมัครที่เข้าร่วมวิจัย นอกจากนี้ การทำงานเป็นเครือข่าย จะช่วยลดระยะเวลาในการพิจารณาโดยเฉพาะงานวิจัยทางคลินิกที่เป็นลักษณะสหสถาบัน และทำให้เกิดความรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

Advertisement

“คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยฯ มีความมุ่งมั่นและมีจิตอาสาในการดำเนินงานที่มีความละเอียดอ่อน ซับซ้อน ต้องอาศัยนโยบายสนับสนุนการบริหารจัดการงานจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์จากผู้บริหารของหน่วยงาน ทั้งการสนับสนุนทรัพยากรที่เหมาะสมและเพียงพอ การจัดทำเอกสารมาตรฐานการปฏิบัติงาน การจัดทำฐานข้อมูลงานวิจัย การพัฒนาระบบติดตามการพิจารณารูปแบบดิจิทัล การพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยทุกระดับอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในระดับจังหวัด ระดับเขต และระดับประเทศ” นพ.สุขุม กล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ (REC) ในระดับต่างๆ มี 187 คณะ แบ่งเป็น ระดับกระทรวง รับผิดชอบโดยกรมการแพทย์ 1 คณะ ระดับกรม 5 คณะ ระดับหน่วยงานสังกัดกรมวิชาการ 21 คณะ และระดับจังหวัด จำนวน 160 คณะ ประจำในโรงพยาบาลที่มีศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา 37 คณะ ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) วิทยาลัยพยาบาล 123 คณะ ซึ่งแต่ละคณะมีลักษณะโครงร่างการพิจารณาที่แตกต่างกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image