ร้านยาชุมชนอบอุ่น ความร่วมมือ ‘รัฐ-เอกชน’ เพื่อคนกรุง

สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร นำร่องเปิดช่องทางการเข้าถึงบริการสุขภาพ ด้วย โครงการร้านยาชุมชนอบอุ่นŽ โดยเชิญชวนให้ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ประเภท (ข.ย.1) ในพื้นที่ 11 เขตของกรุงเทพมหานคร ที่ดำเนินการคลินิกหมอครอบครัว ได้แก่ เขตจอมทอง เขตบางกอกน้อย เขตลาดพร้าว เขตดอนเมือง เขตคันนายาว เขตบางแค เขตบางคอแหลม เขตบางขุนเทียน เขตจตุจักร เขตดุสิต เขตสวนหลวง และโอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัครเข้าร่วมโครงการ ถือเป็นหน่วยบริการด้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะนำภาคเอกชนมาสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ แต่ภาระงานไม่ได้เพิ่มขึ้น

นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กทม. บอกว่า ในปี 2560 พบว่าในจำนวนประชาชนในเขตกรุงเทพฯ ทั้งประชากรตามทะเบียนราษฎรและประชากรแฝงรวมกันประมาณ 10 ล้านคน ที่เจ็บป่วยในรอบ 1 เดือน เกือบร้อยละ 18 ไม่ใช้สิทธิรักษาใดๆ เลย แต่จะเลือกวิธีซื้อยากินเอง เพราะไม่สะดวกในการไปพบหมอ ไม่อยากรอคิวนาน กลัวเสียเวลา นอกจากนี้ ยังพบว่าในจำนวนผู้ป่วยที่รับยาจากโรงพยาบาล มียาเหลือใช้จำนวนมาก ซึ่งมูลค่าสูงถึง 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี จึงตั้งสมมุติฐานว่า หากให้ร้านยา ข.ย.1 ร่วมเป็นหน่วยบริการสุขภาพประชาชน น่าจะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ลงได้

นพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า ต่อมาคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) จึงได้เห็นชอบตามมาตรา 3 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ร้านขายยา ข.ย.1 เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม ขณะนี้จึงมีร้านขายยา ข.ย.1 สมัครเข้าโครงการแล้ว 46 ร้าน

“สำหรับบริการสุขภาพในร้านยาชุมชนอบอุ่น หลักๆ จะเน้นการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค อาทิ การคัดกรองความเสี่ยงในกลุ่มภาวะโรคเมตาบอลิก โดยเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาล วัดความดันโลหิต, ให้สุขศึกษา ความรู้ แนะนำด้านสุขภาพและการใช้ยาอย่างสมเหตุผล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังร่วมกับสหสาขาวิชาชีพอื่นๆ ให้บริการดูแลสุขภาพ (เยี่ยม) ผู้ป่วยที่บ้าน โดยทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับหน่วยบริการประจำในพื้นที่ คลินิกหมอครอบครัว และดำเนินกิจกรรมอื่นที่ อปสข. กำหนด เช่น บริการคลินิกอดบุหรี่ บริการยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นต้นŽ นพ.วีระพันธ์ กล่าวและว่า ร้านขายยา ข.ย.1 จะมีเภสัชกรอยู่ประจำร้านอย่างน้อย 8 ชั่วโมง จะต้องทำหน้าที่แนะนำเรื่องยา ให้ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำกันอยู่แล้ว แต่ที่ให้เพิ่มคือ ขอชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน เพื่อส่งข้อมูลให้กับ สปสช.เขต 13 ซึ่งรายชื่อเหล่านี้เมื่อมีการบันทึกร้านขายยาจะสามารถนำไปเบิกค่าตอบแทนจาก สปสช.เขต 13 ได้

Advertisement

เมื่อถามว่า เป้าหมายต้องการร้านขายยา ข.ย.1 จำนวนเท่าไร นพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า ต้องการ 400 ร้าน ใน 11 เขต โดยประเมินจากจำนวนประชากร สัดส่วนประชากรประมาณ 2,000 คนต่อ 1 ร้าน และร้านขายยาที่จะได้รับเงินจากการให้บริการ จะขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำ ได้แก่ 1.ตรวจคัดกรอง วัดรอบเอว ส่วนสูง วัดความดัน เจาะเลือดตรวจน้ำตาล จะได้ 100 บาทต่อคน แต่ประชาชนจะได้สิทธิเพียง 1 ครั้งต่อปี 2.ให้ความรู้หรือการใช้ยาอย่างสมเหตุผล จะได้ 50 บาทต่อคน ซึ่งประชาชนจะได้สิทธิ 1 ครั้งต่อเดือน 3.เยี่ยมผู้ป่วยถึงบ้าน จะได้ 800 บาทต่อครั้ง เพราะต้องออกพื้นที่ ใช้เวลา มีค่าเดินทาง 4.บริการยาเม็ดคุมกำเนิด จ่าย 40 บาทต่อแผง และ 5.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลิกบุหรี่ ถ้าสามารถทำให้คน 1 คน เลิกบุหรี่ได้ จ่าย 2,000 บาทต่อคน ต้องจ่ายแพงเพราะใช้เวลา และต้องติดตามผลจนกว่าจะแน่ใจและพิสูจน์ได้ว่าเลิกบุหรี่
ได้จริง


“ทุกบริการจะต้องมีการจัดทำบันทึกข้อมูลส่งเข้าระบบ และปัจจุบัน สปสช.เขต 13 กทม.ก็ออกแบบระบบบันทึกไว้แล้ว หากสมัครเข้าโครงการก็สามารถเข้าระบบได้ เพียงใส่ User name และ Password และการจ่ายค่าตอบแทนให้กับร้านขายยาที่เข้าโครงการก็เป็นแบบเดือนต่อเดือนŽ” นพ.วีระพันธ์ กล่าว

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 กทม. กล่าวด้วยว่า สำหรับประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการในร้านยาชุมชนอบอุ่นนั้น เบื้องต้นยังให้สิทธิเฉพาะคนไทยที่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก โดยหากจะเข้าไปใช้บริการในร้านยาชุมชนอบอุ่น ให้สังเกตป้ายโลโก้หรือข้อความ ส่วนกลุ่มคนต่างด้าว คนไร้บ้าน หรือไม่มีบัตรประชาชน เบื้องต้นยังใช้สิทธินี้ไม่ได้

Advertisement

“อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 จนถึงขณะนี้ยังมีร้านขายยา ข.ย.1 เข้าโครงการน้อย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์โครงการไม่ทั่วถึง ดังนั้น ในเร็วๆ นี้ จะเชิญร้านขายยา ข.ย.1 หารือเพื่อให้ข้อมูล และชี้ให้เห็นถึงข้อดีในการเข้าโครงการดังกล่าว และต้องทำให้ประชาชนที่มีเลข 13 หลัก รับรู้ด้วยว่ามีสิทธิเข้าไปใช้บริการในร้านยาชุมชนอบอุ่นในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งวางแผนว่าภายใน 6 เดือน จะทำให้ได้ 100 ร้าน นอกจากนี้ ในส่วนของร้านขายยา ข.ย.1 ที่เข้าโครงการแล้ว สปสช.เขต 13 กทม.จะมีการประเมินผล โดยลงไปตรวจเยี่ยมการให้บริการด้วยŽ” นพ.วีระพันธ์ กล่าวและว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีร้านขายยา ข.ย.1 จำนวน 15,000 ร้าน เฉพาะในกรุงเทพฯมีประมาณ 5,000 ร้าน เบื้องต้นยังไม่ได้คิดถึงการทำให้ครอบคลุมทั้ง 5,000 ร้าน เพราะเป็นเพียงโครงการนำร่อง แต่หากประเมินผลแล้วดี เป้าหมายต่อไปของบอร์ด สปสช. คือจะให้ครอบคลุมทั้งประเทศ

“สำหรับร้านขายยา ข.ย.1 อื่นๆ สามารถขึ้นทะเบียนร้านยาชุมชนอบอุ่นได้ ผ่านทางเว็บไซต์ https://bkk.nhso.go.th/BKKregister/ และสุดท้ายขอเชิญชวนให้ร้านขายยา ข.ย.1 ที่สนใจ ไม่ว่าจะอยู่ในเขตหมอครอบครัวหรือไม่ก็ตาม สามารถติดต่อไปที่ สปสช.เขต 13 กทม.เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ตลอดเวลาทำการ”Ž นพ.วีระพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image