‘ไข้เลือดออก’ คร่าแล้ว 43 ราย สธ.จับ 9 หน่วยงานเอ็มโอยูคุมยุงลายต่ออีก 5 ปี

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. เป็นประธานการจัดงานรณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน ภายใต้ธีม “End Dengue : Start with me หยุดไข้เลือดออก: เริ่มต้นที่ตัวเรา” และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ในการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมยุงลายฉบับที่ 3 (พ.ศ.2562 – 2566) ระหว่าง 9 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข พร้อมเปิดกิจกรรมจิตอาสา “เราทำความดีด้วยหัวใจ” พัฒนาสิ่งแวดล้อมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในพื้นที่โดยรอบ สธ.

นพ.สุขุม กล่าวว่า ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ได้มีมติร่วมกันกำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปีเป็น  “วันไข้เลือดออกอาเซียน” (ASEAN Dengue Day) จากสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับการแพร่พันธุ์ของยุงลายพาหะนำโรคทำให้ภูมิภาคอาเซียนพบโรคนี้ ร้อยละ 70 จึงเห็นควรร่วมมือขับเคลื่อนการดำเนินงานและรณรงค์ไปด้วยกัน และประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อควบคุมยุงลาย ระหว่าง 9 หน่วยงานภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้เป็นฉบับที่ 3 ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2562 – 2566 เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลายในสถานที่สำคัญของชุมชน ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล โรงงาน และสถานที่ราชการ สื่อสารประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมสนับสนุนรณรงค์จัดการสิ่งแวดล้อม ร่วมรณรงค์ในวันไข้เลือดออกอาเซียนทุกปี แลกเปลี่ยนและบริหารจัดการฐานข้อมูล และร่วมกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ภายใต้โครงการจิตอาสาฯ

Advertisement

 

นพ.สุขุม กล่าวต่อไปว่า สธ.ได้ให้ทุกกรมและกองต่างๆ สำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งภายใน ภายนอกอาคารของหน่วยงานในสังกัด และบริเวณโดยรอบอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ตลอดเดือนกรกฎาคม และมีประกาศกำหนดให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรําคาญ พ.ศ.2545 หากพบว่าอาคารหรือสถานที่ใดของเอกชนมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และไม่ปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำการควบคุมและป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ภายในเวลาที่กำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งจําทั้งปรับ

Advertisement

 

“องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่า แต่ละปีจะมีผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีทั่วโลกประมาณ 50 – 100 ล้านคน สำหรับประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีการระบาดมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงปัจจุบัน มีพบผู้ป่วย 28,785 ราย ซึ่งมากกว่าปี พ.ศ. 2561 ถึง 1.7 เท่า  คาดว่าตลอดทั้งปีจะพบผู้ป่วยถึง 100,000 ราย ปัจจุบันมีผู้ป่วยเสียชีวิต 43 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.15 ของผู้ป่วยทั้งหมด” นพ.สุขุม กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image