‘เอไอ’ มาแน่! กูรูแนะแพทย์เป็นโอกาสเพิ่มความแม่นยำในการตรวจ-รักษาโรค

วันที่ 15 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเวทีเสวนา Policy Dialogue ในหัวข้อ Universal Healthcare Coverage in the New Era of Disruptive Technology โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีเข้าร่วมอภิปราย ประกอบด้วย นายศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) นายธีรเดช เวียงธีรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา โรงพยาบาล (รพ.) บำรุงราษฎร์ และ นายภูมิ ภูมิรัตน์ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

นายธีรเดชกล่าวว่า ทุกวันนี้มีการกล่าวถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย เช่น บิ๊กดาต้า (Big Data), เอไอ (AI), แมชชีน เลิร์นนิ่ง (Machine Learning) ฯลฯ และหากดูจำนวนเอกสารวิชาการเกี่ยวกับบิ๊กดาต้า และเอไอ ก็พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับมีบริษัทสตาร์ทอัพทางด้านเอไอ ที่เกี่ยวกับสุขภาพก็มีมาก ขณะที่เทรนด์การลงทุนทางด้านเอไอในปี 2021 พบว่ามีการลงทุน 6-10 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีการลงทุนในเรื่องหุ่นยนต์ผ่าตัด (Robotic Surgery) มากเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ ด้าน Nursing Assistant และ Administrative Workflow

“สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าเทรนด์กำลังมา เลี่ยงไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะปรับใช้อย่างไร เพียงแต่ภาพในปัจจุบันการนำ เอไอมาใช้ในวงการแพทย์ยังขยับได้ช้า เพราะขาด Evidence Base และมีแรงต่อต้านจากการรักษาแบบที่เคยใช้ประสบการณ์ จากความเข้าใจที่คิดว่าเทคโนโลยีนี้จะมา Disrupt อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เปรียบเสมือนรถไฟกำลังจะออกจากสถานีแล้ว ถ้าแพทย์เอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ก็คือเป็นแพทย์ที่ขึ้นรถไฟทัน” นายธีรเดช กล่าวและว่า Mind set ต่อเรื่องนี้สำคัญมาก อยากให้มองว่าเป็นโอกาส เพราะเทคโนโลยีไม่มีทางมาแทนที่อาชีพแพทย์ได้ แต่จะช่วยให้ตรวจวินิจฉัยได้แม่นยำมากขึ้น รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม

Advertisement

เราไม่ใช้คำว่า Replace แต่เป็น Second Opinion มากกว่า อย่างในอเมริกาก็ใช้ AI วินิจฉัยเอกซเรย์, CT scan, Ultrasound เป็น Second Opinion บางแห่งก็ใช้ในกระบวนการ Clinical Trial หรืออย่างผมมีหน้าที่ดูเรื่องที่เทคโนโลยีที่จะมาช่วยแพทย์ เช่น การตรวจโรคตา ข้อดีของเทคโนโลยีพวกนี้คืออ่านรูปได้เป็นล้านๆ รูปในเวลาไม่นานเมื่อเทียบกับแพทย์คนหนึ่งที่ต้องสั่งสมประสบการณ์ยาวนานพอสมควร ตรงนี้พออ่านปุ๊ปก็ช่วยแพทย์ในการ Pre-Screening ได้ ทำให้กระบวนการวินิจฉัยโรคต่อคนไข้ 1 คนเร็วมากขึ้น” นายธีรเดช กล่าวและว่า ปัจจุบันการใช้งานเอไอ ยังโฟกัสไปที่การวินิจฉัยโรค แต่จริงๆ เราสามารถใช้ประโยชน์จากมันให้ครบวงจรตั้งแต่คนไข้เดินเข้ามาจนออกไปจากโรงพยาบาลได้ เช่น การจัดการรอคิวในโรงพยาบาล เป็นต้น

ด้านนายภูมิ กล่าวว่า หากพูดเฉพาะเทคโนโลยี Block Chain กล่าวโดยสรุปคือเป็นเทคโนโลยีประเภท Infrastructure ที่อยู่หลังบ้าน มองผิวเผินอาจเหมือน AI แต่ AI คืออัลกอริทึมที่เรียนรู้จาก Data แล้วช่วยในการตัดสินใจ แต่ Block Chain เป็นเทคโนโลยีที่สร้างความน่าเชื่อถือใน Relationship ระหว่างคนที่ไม่เชื่อถือกัน จินตนาการง่ายๆ ว่าโจทย์ใดที่ต้องมีคนกลางมาเชื่อม เราสามารถใช้ Block Chain ทดแทนได้เกือบทุกโจทย์ ยกเว้นเป็นโจทย์ที่ต้องการคนกลางที่มี Expertise สูงๆ เช่น แพทย์ เป็นคนกลางระหว่างประชาชนกับสุขภาพที่ดี เราทดแทนแพทย์ด้วย Block Chain ไม่ได้ แต่บริษัทแบบอูเบอร์ เป็นคนกลางเชื่อมระหว่างผู้คนกับรถที่ว่างอยู่บนถนน สามารถใช้ Block Chain ทดแทนได้ หรือระบบการจ่ายเงินธนาคารเชื่อมระหว่างกระเป๋าเงินเรากับกระเป๋าเงินของคนอื่น สามารถใช้ Block Chain ทดแทนได้ แต่ระบบปล่อยกู้ในการลงทุน เช่น ตลาดหุ้น ใช้เชื่อมโยงนักลงทุนกับหุ้น เราก็ต้องมีบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งมี Expertise มาช่วยวิเคราะห์คุณสมบัติของหุ้นแต่ละตัว แบบนี้ Block Chain ทดแทนไม่ได้

Advertisement

นายภูมิ ยกตัวอย่างการใช้ Block Chain ในด้านสุขภาพ เช่น หากต้องการสร้าง Health Information Exchange ในอดีตอาจต้องตั้ง Bureau ขึ้นมาเหมือน Credit Bureau แล้วออกกฎหมายบังคับให้ทุกโรงพยาบาลต้องส่งข้อมูลไปที่นั่น เป็นต้น สิ่งนี้คือคนกลาง ถ้ามีคนกลางที่น่าเชื่อถือได้ก็จบ แต่ถ้าคนกลางหมดความน่าเชื่อถือก็จบเช่นกัน อย่างที่ประเทศสิงคโปร์โดนแฮ็กข้อมูลไปเมื่อปีที่แล้ว แต่ถ้าคนกลางทำหน้าที่แค่รับข้อมูลแล้ว Partition Data ออกไปให้คนอื่น แบบนี้ทดแทนได้ด้วย Block Chain

“Health Information Exchange เมื่อก่อนถ้าไม่มีคนกลางที่น่าเชื่อถือเราใช้ Spaghetti Model คือทุกคนเปิด API (Application Programming Interface) โดยมี Format ของ DATA ที่เหมือนกัน อันนี้ก็จะเป็นปัญหาอีกว่าสามารถตกลงใช้ Format DATA เหมือนกันได้หรือไม่ ปัญหานี้ Block Chain ไม่ถึงกับแก้ให้แต่ช่วย Facilitate การกำหนด Format ได้ แต่ประเด็นอื่นๆ เช่น Data Trust และ Security ตัว Block Chain จะช่วยแก้ปัญหาตรงที่ว่าเมื่อทุกคนเปิด API แล้วเทคโนโลยีนี้จะช่วยบอกว่าคนที่มาเชื่อมต่อข้อมูลเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับอนุญาตแล้วได้ ไม่ใช่คลินิกหรือคลินิกเถื่อน หรือสามารถช่วยบริหารจัดการข้อมูลการยินยอมเปิดเผยข้อมูลของคนไข้ ซึ่งเมื่อข้อคำได้รับการยินยอมแล้ว ผู้ให้บริการก็ต้องเก็บเป็นหลักฐานเพื่อป้องกันการโต้แย้งในภายหลัง เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากพูดถึงเทคโนโลยีโดยกว้างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็น Block Chain อาจจะเอา AI มาช่วยจัดคิวในโรงพยาบาล การคำนวนเวลาว่าคิวช่วงไหนยาว แทนที่จะให้ผู้ป่วยนั่งรอก็สามารถเดินไปที่ไหนก็ได้แล้วระบบจะคอยเตือนให้ หรือเรื่องการรักษาพยาบาล เทคโนโลยีก็ช่วยระบบหลักประกันสุขภาพได้ เช่น ถ้าโรงพยาบาลเอาเทคโนโลยีมา Pre-Screening คนไข้ Output ที่ออกมาก็เป็นหลักฐานเสริมการตรวจ การเคลม การเบิกจ่ายได้ แต่นั่นหมายถึงว่า สปสช.ก็ต้องมีระบบข้อมูลที่เข้มแข็งด้วย” นายภูมิ กล่าว

นอกจากนี้ นายภูมิ กล่าวว่า ตัวอย่างบริษัทประกันสุขภาพ สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือข้อมูลเพื่อเอามาจัดแพ็คเก็จความเสี่ยงและตรวจสอบผู้ให้บริการว่า Overclam ค่าใช้จ่ายหรือไม่ และถ้าภารกิจของ สปสช.จะช่วยโรงพยาบาลทำเรื่อง Preventive Healthcare เทคโนโลยีก็ช่วยได้เยอะ อย่างในต่างประเทศ บริษัทประกันซื้อประกันแล้วแถม Fitbit ให้ โดย Custom ให้บริษัทประกันเห็นจำนวนก้าวเดิน อัตราการเต้นของหัวใจ เวลาที่ใส่ข้อมือว่านานแค่ไหน คนที่ใส่ทุกวันน่าจะมีแนวโน้มสุขภาพที่ดีกว่าคนไม่ใส่เลย สปสช.อาจทำอะไรคล้ายๆ กันได้ เช่น คนที่ดูแลข้อมูลส่วนใหญ่อยู่ในชุมชน ก็อาจบอกว่าถ้าหมอครอบครัวนำมาสู่การดูแลการส่งเสริมสุขภาพคนในชุมชนได้ดี เราก็สามารถแบ่งเงินไปลงทุนด้านนี้มากขึ้น ทำให้เกิดการเบิกจ่ายน้อยลง เป็นต้น

ด้านนายศักดิ์ กล่าวว่า ข้อมูลในยุคนี้ต้องเป็นข้อมูลดิจิทัลจึงจะมีประโยชน์ ซึ่งใน พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล 2562 จะเป็นสถาปัตยกรรมของประเทศในการเอาข้อมูลมาใช้ เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการนิยามคำว่าธรรมาภิบาลข้อมูล ใครที่เป็นหน่วยงานหลักที่เก็บข้อมูลนั้นๆแล้ว หน่วยงานที่เหลือห้ามเก็บข้อมูล และทุกหน่วยงานต้องทำข้อมูลให้เป็นดิจิทัลตามวิธีที่คณะกรรมการรัฐบาลดิจิทัลกำหนด รวมทั้งหน่วยงานที่สร้างข้อมูลก็มีหน้าที่ต้องรักษาข้อมูลนั้นให้ทันสมัยและต้องเตรียมข้อมูลพวกนี้เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน

พูดง่ายๆคือมีกฎหมายนี้แล้วไม่ต้องไป MOU กับใครอีกใช้กฎหมายนี้เชื่อมข้อมูลกันได้เลย แต่หน่วยงานต้องไปคุยในรายละเอียดกัน เช่น กระทรวงสาธารณสุขจะไปเชื่อมข้อมูลกับทะเบียนราษฏร์ ก็ต้องคุยกันว่ากระทรวงสาธารณสุขควรดึงข้อมูลอะไรจากทะเบียนราษฏร์ได้บ้าง จะเห็นว่ากฎหมายนี้สังคายนาระบบข้อมูลภาครัฐทั้งหมด เพราะถ้าจะเข้าสู่ยุคดิจิทัล ต้องเชื่อมโยงข้อมูลรัฐกัน 400-500 หน่วยงาน การเชื่อมโยงข้อมูล ถ้าไม่มั่นใจว่าข้อมูลที่ถูกสร้างมีธรรมาภิบาล มันก็จะเอามาใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่” นายศักดิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image