‘งาน งบ ระบบ คน’ หัวใจลดท้องไม่พร้อมของ ‘ลำปางโมเดล’

การพูดเรื่อง “เพศ” ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างเปิดกว้างเพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องเพศอย่างถูกต้อง เป็นหนึ่งในเป้าหมายของ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ.2559 โดยหลังจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวได้รับการประกาศใช้มาเป็นเวลากว่า 3 ปี ภาพรวมมีแนวโน้มว่าสถานการณ์หญิงคลอดบุตรในช่วงอายุ 10-19 ปี กำลังค่อยๆ ลดลง จาก 5 ปีที่แล้ว

การทำงานแบบบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กับภาคประชาสังคม โดยมีการประสานงานที่เข้มแข็ง ร่วมกับการพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการต่างๆ และให้วัยรุ่นเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของจังหวัดมีแนวโน้มดีขึ้น

จ.ลำปาง นำร่องเรื่องเพศในพื้นที่มาก่อนที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวบังคับใช้ โดยในปี 2557 มีอัตราการคลอด 28 ต่อประชากรวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ต่อมาในปี 2560 มีอัตราการคลอด 19.7 ต่อประชากรวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ส่วนอัตราการตั้งครรภ์ซ้ำของหญิงอายุ 15-19 ปี ก่อนเริ่มโครงการ ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 11.23 และปี 2560 เหลือร้อยละ 9.52 ต่อมาได้ต่อยอดการดำเนินงานให้มีการบูรณาการประเด็นการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเข้ากับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการใช้สารเสพติด ผ่านองค์กรสาธารณประโยชน์ ในชื่อ “กลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กและเยาวชนจังหวัดลำปาง” เป็นแกนนำการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ

Advertisement

ปัจจุบันลำปางได้ดำเนินงานต่อยอดและขยายผลครอบคลุมทุกพื้นที่ในจังหวัด และยังเป็น 1 ใน 4 แหล่งเรียนรู้ต้นแบบในการทำงานเรื่องเพศในเด็กและเยาวชน โดย นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาอิสระด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กล่าวว่า ลำปางเป็น 1 ใน 20 จังหวัดนำร่อง ที่ขับเคลื่อน 9 ภารกิจ ประกอบด้วย 1.มีกลไกประสานการทำงานในระดับจังหวัดที่เข้มแข็ง 2.พัฒนาผู้ปกครองให้มีทักษะคุยเรื่องเพศกับลูก 3.มีกลไกสนับสนุนให้สถานศึกษาสอนเรื่องทักษะชีวิตและเพศวิถีศึกษารอบด้าน 4.ทำงานเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงตั้งครรภ์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา 5.รณรงค์สื่อสารเพื่อสร้างความตระหนัก 6.มีหน่วยบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น 7.ระบบการบริการและสวัสดิการ ที่เชื่อมโยงระหว่างสุขภาพ การศึกษา และพัฒนาสังคม 8.การจัดให้มีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชน และ 9.มีระบบข้อมูลเพื่อติดตามความก้าวหน้าและยกระดับการทำงานอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวถึงบทบาทของ สสส. ในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ใน จ.ลำปาง ว่า เป็นการหนุนเสริมและพัฒนาจุดแข็งในด้านเครือข่ายการทำงาน 4 ปัจจัยหลัก คือ “งาน งบ ระบบ คน” โดยมี สสส.เข้ามาสนับสนุนและบูรณาการร่วมกัน โดยมีวัยรุ่นเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจุดแข็งของลำปางคือ การมีองค์กรภาคประชาสังคม (NGOs) ในนามกลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กและเยาวชนจังหวัดลำปาง เป็นกลไกเชื่อมประสาน

Advertisement

“การลงพื้นที่ครั้งนี้ ช่วยให้รับทราบสถานการณ์และความก้าวหน้า รวมถึงอุปสรรคในพื้นที่ ทั้งนี้ จะขยายผลการดำเนินงานของลำปางไปสู่พื้นที่ต่างๆ เพื่อลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นทั่วประเทศให้เหลือต่ำกว่า 25 ต่อ 1,000 ประชากรหญิง ภายในปี 2569 ตามเป้าหมายในยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว

ด้านเป้าหมายของการลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นในลำปางคือร้อยละ 50 จาก 19.7 ต่อประชากรวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ภายในเวลา 10 ปี ซึ่ง เบญญา เอมาวัฒน์ ประธานกลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นความท้าทายของคณะทำงาน เนื่องจากสถิติตัวเลขที่ต่ำอยู่แล้วของลำปาง บวกกับการรับมือกับเด็กวัยรุ่นที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี ที่ผ่านมากลุ่มเพื่อนเพื่อเด็กและเยาวชนฯ เชื่อมประสานหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ได้แก่ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ศึกษาธิการจังหวัด และสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด และ ป.ป.ส.จังหวัด

“ผลงานที่เกิดจากความร่วมมือมีมากมาย เช่น การสอนเพศวิถีศึกษาในโรงเรียน การจัดสถานบริการที่เป็นมิตรกับเยาวชน การส่งเสริมบทบาทครอบครัวและสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น พัฒนาวิทยากรนำร่องเรื่องพัฒนาทักษะการสื่อสารให้กับผู้ปกครองใน 3 อำเภอ และล่าสุด สสส. ได้สนับสนุนให้เกิดบริการอนามัยเจริญพันธุ์ใน รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากที่สุด โดยในอนาคตวางแผนขับเคลื่อนกิจกรรมทั้งหมดให้ครอบคลุมทั้ง 13 อำเภอ ใน จ.ลำปาง และในปี 2562 กิจกรรมจะมุ่งเน้นให้ความรู้และแก้ปัญหาการป้องกันที่ไม่ถูกต้องในกลุ่มวัยรุ่นชาย โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนเทคนิค 4 แห่ง ใน อ.เมืองลำปาง ให้เข้าใจเรื่องสุขภาวะทางเพศที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น” เบญญา กล่าว

หนึ่งในภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็งในโครงการนี้คือ สถานศึกษา ซึ่งโรงเรียนเสริมงาม จ.ลำปาง ซึ่งนับเป็นต้นแบบเรื่องการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาในโรงเรียน โดย มานัส นพคุณ ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญ กล่าวว่า สถิติการตั้งครรภ์ในโรงเรียนดีขึ้นแต่ปัญหาไม่ได้หมดไป โรงเรียนเสริมงามให้ความสำคัญกับทัศนคติของครู โดยครูทุกคนในโรงเรียนต้องเข้าใจเรื่องเพศวิถีศึกษาและสามารถบูรณาการการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษาได้ ในหลักสูตรจริยศึกษาของนักเรียนชั้น ม.1-ม.6 จัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาทุกสัปดาห์ และสอดแทรกเข้าไปในวิชาอื่นๆ ทั่วไป เป็นเสมือนวิชาทักษะชีวิต

“โรงเรียนต้องทำงานด้วยจิตสำนึกทั้งเรื่องท้องในวัยเรียน หรือแม้แต่ยาเสพติด เราลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนก่อนเปิดเทอมเพื่อรับทราบปัญหาทุกด้าน ซึ่งจากกิจกรรมของเราพบว่าร้อยละ 80 ของนักเรียนที่ไม่มีปัญหาในชุมชนก็ไม่มีปัญหาในโรงเรียน เมื่อพบเด็กที่มีปัญหาจะประสานกับเครือข่าย ครู ในโรงเรียนต้องดูแล ผู้ปกครองและเด็ก ต้องคุยกัน สื่อสารกัน กรณีที่เกิดปัญหาขึ้นแล้ว เช่น มีเด็กหญิงท้องเราแก้ปัญหาโดยให้เด็กเข้ามาพร้อมผู้ปกครอง พูดคุยเรื่องการเรียนต่อ ไม่ผลักเด็กออกจากระบบ แม้เขาจะท้องก็ให้เขาอยู่ในระบบต่อไป หากมีสิ่งแรกคือ ยอมรับปัญหา และทำการแก้ไขปัญหา ไม่ผลักปัญหาให้เด็กเผชิญเพียงลำพัง การมีแม่วัยใสในโรงเรียน อาจจะเป็นหนึ่งบทเรียนให้เด็กคนอื่นๆ ตระหนักถึงปัญหาความลำบากและความยุ่งยากหากเขาท้องไม่พร้อม” ผอ.โรงเรียนเสริมงาม กล่าว

แม้ขณะนี้ สถิติทางตัวเลขการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในลำปางจะน้อยที่สุดในประเทศ แต่ความท้าทายด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และยาเสพติดในวัยรุ่น ก็ยังไม่หมดไป อย่างไรก็ตาม จ.ลำปางเป็นแนวทางหนึ่งที่พิสูจน์ว่า “ถ้าจะทำงานวัยรุ่น เรื่องสำคัญคือ เสริมทักษะชีวิตและทำงานร่วมกับครอบครัว และถ้าจะทำงานวัยรุ่นให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ สิ่งสำคัญคือ การพัฒนาทีม”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image