ความสำเร็จ “อนามัยเจริญพันธุ์” หลักประกันสุขภาพไทยในเวทีโลก

อนามัยเจริญพันธุ์ (Reproductive Health) มีความสำคัญในระดับมนุษยชาติ และเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้การส่งเสริม นั่นเพราะเรื่องนี้เกี่ยวพันกับทุกชีวิตและมีผลโดยตรงต่อคุณภาพของประชากรของแต่ละประเทศ ซึ่งหมายถึงความมั่นคง การพัฒนา และศักยภาพในการแข่งขัน

ว่ากันตามคำนิยามของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แล้ว อนามัยเจริญพันธุ์ หมายถึง ภาวะความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ ที่เป็นผลสัมฤทธิ์อันเกิดจากกระบวนการและหน้าที่ของการเจริญพันธุ์ที่สมบูรณ์ ทั้งชายและหญิงทุกช่วงอายุของชีวิต ซึ่งทำให้เขาเหล่านั้นมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
อธิบายอย่างง่าย อนามัยเจริญพันธุ์ก็คืออนามัยในทุกๆ มิติที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิทธิในเพศ สิทธิในการเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร การวางแผนครอบครัว การตั้งครรภ์ การยุติครรภ์ ตลอดจนโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และอนามัยเจริญพันธุ์นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย

เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการจัดประชุมนานาชาติ Women Deliver หัวข้อ Investing in Sexual and Reproductive Health and Right: Generate Support, Drive Implementation ณ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา โดยในที่ประชุมได้ร่วมกันรับทราบถึงความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพไทยกับสิทธิด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ (Universal coverage to sexual and reproductive health right in Thailand)

Advertisement

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน เป็นตัวแทนในการบอกเล่าถึงแนวคิดและการทำงาน

เธอกล่าวกับที่ประชุมว่า การจัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์โดยรัฐถือเป็นการลงทุนทางสังคมขั้นพื้นฐานเพื่อสร้างประชากรที่มีคุณภาพ ขจัดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทำให้ประชาชนต้องล้มละลายจากการเข้าถึงการรักษา และยังมีส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทยนั้น สิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานทางสาธารณสุขของประชาชนที่รัฐจะต้องจัดบริการให้ ที่ผ่านมา จึงมีการพัฒนาและให้การสนับสนุนทางการเงินสำหรับจัดบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการที่ดีและนำไปสู่การสร้างประชากรที่มีคุณภาพ

Advertisement

“เราให้ความสำคัญกับการให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาตั้งแต่วัยเรียน เราให้ความรู้ด้านการวางแผนครอบครัวและบริการคุมกำเนิดสมัยใหม่แก่หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน เราจัดบริการฝากครรภ์คุณภาพแก่หญิงตั้งครรภ์ทุกคนและดูแลไปจนถึงการคลอด ในกรณีที่มีข้อบ่งชี้ตามกฎหมายแพทย์ก็สามารถให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก และเรายังมีการคัดกรองโรคมะเร็งทางนรีเวชทั้งมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกให้แก่ผู้หญิงไทยทุกคนด้วย” เธอระบุ

ทั้งหมดนี้ อยู่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้ออกแบบ วางกลไก และให้การสนับสนุนการทำงาน ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้อง

รูปธรรมความสำเร็จจากการทำงานเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์คือ สถิติและความสูญเสียต่างๆ ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าพบว่าดัชนีอนามัยเจริญพันธุ์ของประเทศไทยดีขึ้นเป็นอย่างมาก เช่น อัตรามารดาเสียชีวิตระหว่างคลอดเหลือเพียง 20 ต่อ 1 แสนประชากร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 10 เท่า ทั้งที่ก่อนมีระบบหลักประกันเคยอยู่ที่ 40 ต่อ 1 แสนประชากร หรืออัตราติดเชื้อในกลุ่มผู้หญิงอายุระหว่าง 15-25 ปี ที่ลดลง 5 เท่า ในช่วง 2 ทศวรรษ และการลดลงของมะเร็งปากมดลูก จาก 24.7 ต่อ 1 แสน
ประชากร ในปี 2543 เหลือเพียง 11.7 ต่อ 1 แสนประชากร ในปี 2559

กรรณิการ์ กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า ก้าวต่อไปที่ประเทศไทยจะดำเนินการ คือการขยายชุดสิทธิประโยชน์ทุกด้านในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งรวมถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ให้ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยได้รับอย่างเท่าเทียมกัน โดยจะต้องครอบคลุมไปถึงประชากรกลุ่มคนไร้รัฐ กลุ่มที่ตกหล่น และแรงงานข้ามชาติด้วย

“แม้เราจะมีบริการกระจายอยู่ทั่วประเทศแล้ว แต่ก็ยังผู้หญิงบางส่วนยังเข้าไม่ถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ เช่น วิธีคุมกำเนิดที่ทันสมัย การเข้าถึงถุงยางอนามัยคุณภาพดีราคาถูก การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพในการดูแลสุขอนามัยของตัวเอง ควบคู่ไปกับการทำงานเชิงรุกของบุคลากรสุขภาพ และการให้ความสำคัญกับการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพให้เท่าทันด้วย” กรรณิการ์ ระบุ

นอกจากนี้ เธอยังได้ฉายภาพความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นถึงหลักการสำคัญที่ของระบบ ซึ่งมีด้วยกันอย่างน้อย 5 ประการ ประกอบด้วย 1.งบประมาณที่มาจากภาษีเป็นการจัดการงบประมาณแบบปิด ประชาชนไม่ต้องร่วมจ่าย ณ จุดบริการ ครอบคลุม 48 ล้านคน ที่ไม่มีระบบประกันอื่นๆ ของรัฐมาก่อน 2.ความสมดุลในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ประกอบไปด้วย 5 ส่วนหลักคือ ส่วนราชการ สภาวิชาชีพ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 3.การแยกบทบาทระหว่างผู้ให้บริการและผู้จัดการบริการเพื่อสร้างระบบความรับผิดรับชอบ 4.ชุดสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมมากเพียงพอที่จะทำให้สุขภาพของประชาชนดีขึ้นถ้วนหน้าโดยการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์จะต้องผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วม เปิดเผยโปร่งใส และใช้หลักฐานที่มาจากการศึกษามาเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพิจารณา 5.ต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image