สปส.เร่งตรวจสอบจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนให้ “เหยื่อเรือประมง” อับปางที่ จ.ตราด

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุเรือประมงอับปางในพื้นที่อ่าวสลัด อ.เกาะกูด จ.ตราด เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ว่า จากการตรวจสอบของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดตราด พบว่า เรือที่อับปาง ชื่อ “เรือชัยวารี” ทะเบียนเรือเลขที่ 162201702 ขนาด 40.92 ตันกรอส ประเภทเรืออวนครอบปลากะตัก มีนายวิฑูรย์ แซ่เจ็ง เป็นเจ้าของ มีลูกเรือทั้งหมด 15 คน เป็นคนไทย 2 คน กัมพูชา 13 คน เรือได้จมลงบริเวณหน้าอ่าวสลัด หาดทรายขาว อ.เกาะกูด จ.ตราด โดยกองทัพเรือภาคที่ 1 ได้ดำเนินการค้นหาเพื่อช่วยเหลือลูกเรือ ปรากฏว่า ลูกเรือเสียชีวิต 3 ราย เป็นคนไทย 1 ราย คือ นายสุพร แซ่เส็ง อายุ 56 ปี ตำแหน่งช่างเครื่อง ซึ่งเป็นพี่ชายของเจ้าของเรือ และลูกเรือชาวกัมพูชา 2 ราย โดยญาติให้นายจ้างดำเนินการเกี่ยวกับศพและขอนำเถ้าอัฐิกลับประเทศ

นายสุทธิ ยังกล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือของกระทรวงแรงงานว่า ได้ติดตาม ตรวจสอบ พบว่านายจ้างไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เอกสาร และได้ประสานไปยังศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง คลองใหญ่ (PIPO) เพื่อติดตามให้นายจ้างมาขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนให้ถูกต้อง เพื่อจะได้จ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้มีสิทธิ โดย สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ.ตราด ได้ลงพื้นที่ไปพบเจ้าของเรือประมงชัยวารี และตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง พบว่า นายจ้างมีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทน ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ตามเอกสารสัญญาจ้าง มีลูกจ้างที่ต้องขึ้นทะเบียนจำนวน 3 คน เป็นคนไทย 2 คน กัมพูชา 1 คน โดยที่เหลือเป็นลูกเรือสัญชาติกัมพูชาที่ถือบัตร Border pass จำนวน 12 คน

“สำหรับผู้เสียชีวิต 3 ราย ทายาทจะได้รับสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน ได้แก่ รายแรก นายสุพร แซ่เจ็ง ได้ค่าทำศพ 33,000 บาท ส่วนสิทธิประโยชน์ด้านอื่นๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบและติดตามให้ผู้มีสิทธิมารับประโยชน์ทดแทนต่อไป รายที่ 2 นายบุญไท เกา สัญชาติกัมพูชา ได้รับค่าทำศพ 33,000 บาท ส่วนเงินทดแทนลูกจ้างได้ค่าจ้างเดือนละ 10,000 บาท จะได้รับ ร้อยละ 70 ของค่าจ้างเป็นเงิน 7,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 10 ปี รวมเงินทดแทน 840,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 873,000 บาท ผู้มีสิทธิได้รับ คือ บิดา – มารดา ไม่มีคู่สมรส และ รายที่ 3 นายเนง นี สัญชาติกัมพูชา ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับนายจ้าง เพื่อติดตามให้ผู้มีสิทธิมารับประโยชน์ทดแทนต่อไป” นายสุทธิ กล่าวและว่า นอกจากนี้ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตราด ยังได้ดำเนินการติดตามประเด็นค่าจ้างค้างจ่าย เพื่อส่งมอบแก่ทายาท สำหรับประเด็นกฎหมายความปลอดภัย ตรวจสอบพบว่า ไม่เข้าข่ายเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากภัยธรรมชาติ

Advertisement

ทั้งนี้ นายสุทธิได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานเข้มงวดในการตรวจสอบนายจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เน้นย้ำให้นายจ้างใช้แรงงานประมงที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดูแลสวัสดิการลูกจ้างและขึ้นทะเบียนประกันสังคม เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอย่างครบถ้วน นอกจากนั้น ยังเป็นการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image